3 มาร์เก็ตเพลสออนไลน์คึกคัก “มธ.-จุฬาฯ-เกษตรฯ” ไปรษณีย์ไทยพร้อมส่งสินค้าช่วยเหลือคนไทย
ในช่วงของการฟื้นฟูหลังเกิดการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ทำให้หลายกิจการเริ่มเปิดบริการได้อีกครั้ง แต่ยังคงมีอีกหลายธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ธุรกิจออนไลน์จึงได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งพื้นที่ของการขายของที่ได้รับความนิยมขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 คือ ตลาดนัดออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เปิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้มาแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคึกคักและหลากหลาย และคาดการณ์ได้ว่าช่องทางการซื้อขายในลักษณะนี้อาจเป็นหนึ่งในการดำเนินธุรกิจแบบ New Normal ต่อไป
เมื่อการซื้อขายออนไลน์เติบโตขึ้น ตัวกลางที่ช่วยในการจัดส่งสิ่งของก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงสนับสนุนการขายสินค้าออนไลน์สำหรับพ่อค้า แม่ค้า ด้วยส่งมอบบริการด้วยมาตรฐานการขนส่งที่ดีสุด ด้วยความแม่นยำ เชี่ยวชาญในทุกพื้นที่ เพื่อทำให้ทั้งผู้ขายและผู้สั่งซื้อสามารถอุ่นใจได้ว่าสินค้าและพัสดุทุกชิ้นจะถึงมือผู้รับอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และยังมีต้องการจัดส่งสิ่งของราคาประหยัดผ่านแคมเปญ “ยิ้มสู้-19” ด้วยค่าจัดส่ง 19 บาทราคาเดียวเมื่อส่งของน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม ขยายเวลาไปจนถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งวันนี้ ไปรษณีย์ไทย ได้มีกลุ่มเฟซบุ๊กจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาแนะนำกันอีกด้วย
ตลอดนัดออนไลน์กลุ่มแรกที่จะพูดถึง คือ “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บรรยากาศนั้น อบอวลไปด้วยความเป็นพี่น้อง โดยแอดมินที่ก่อตั้งเพจนี้คือ “อาร์ม ปาณพล จันทรสุกรี” เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มเฟซบุ๊กแห่งนี้ว่ามาจากการโพสต์ขายขนมในกลุ่มเฟซบุ๊กของหมู่บ้านด้วยบัญชีส่วนตัว จึงพบว่าเพื่อนและอีกหลายคนนั้นได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของ COVID – 19 ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการเพราะไม่มีรายได้ เขาจึงหารือกับเพื่อนศิษย์เก่าลูกพระเกี้ยวเพื่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสขึ้น ซึ่งหลังจากตั้งกลุ่มได้เพียง 18 ชั่วโมงมีคนกดติดตามมากกว่า 10,000 คน และปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 240, 000 คน ซึ่งก็ยังคงมีพ่อค้าแม่ค้าทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขายของกันอย่างคึกคัก แสดงให้เห็นว่าเด็กจุฬาฯ ไม่ได้เก่งเพียงแค่เรื่องเรียน แต่ยังมีความสามารถที่หลากหลาย ทั้งการสร้างสรรค์สินค้า ครีเอทีฟไอเดีย จนสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าเลือดสีชมพูหลายคนมีลูกค้าจับจองมากมาย ศิษย์เก่าบางคนที่ตกงานในช่วงนี้ก็สามารถสร้างรายได้จากการขายของได้เป็นกอบเป็นกำ
ส่วนกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สนุกสนานไม่แพ้กัน จุดเริ่มต้นของเพจนี้เริ่มมาจากความต้องการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาในช่วงการระบาดของ COVID-19 จนกลายเป็นตลาดนัดออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้แบบพลิกฝ่ามือให้กับหลาย ๆ ธุรกิจ ซึ่งจารุยศ สุวรรณบัตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กเล่าว่า ผลตอบรับจากสมาชิกในกลุ่มจัดว่าดีมาก ๆ สามารถช่วยเหลือกิจการของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มียอดขายสินค้าในช่วง COVID-19 ตกลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 90% ได้ อีกทั้งกลุ่มเฟซบุ๊กแห่งนี้ยังกลายเป็นสถานที่สร้างความทรงจำเก่า ๆ ทำให้เพื่อนที่จากกันไปนานได้กลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง ทำให้ลูกศิษย์เหลือง-แดง สามารถซึมซับบรรยากาศความเป็นตลาดนัดตลาดเปิดท้ายมากยิ่งขึ้น เพราะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งดนตรีแบบไลฟ์สด สินค้าอาหารที่แน่นอนว่าสามารถส่งกับไปรษณีย์ไทยได้ด้วย
อีกหนึ่งตลาดนัดออนไลน์ที่คึกคักไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้นกลุ่มเฟซบุ๊ก “KU จะฝากร้าน” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีสมาชิกแล้วกว่า 120,000 คน โดยนางสาวธัญวรัตม์ แจ่มเจริญ ผู้ดูแลและผู้ก่อตั้ง เล่าว่า ตลาดนัดสีเขียวแห่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้า หางาน หรือหาคอนเนคชันของลูกศิษย์พระพิรุณ เพื่อแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบในช่วงช่วง COVID-19 โดยสินค้าประเภทเกษตร และอาหารทะเล ในกลุ่มนี้ค่อนข้างขายดีเป็นพิเศษ เพราะส่งตรงจากฟาร์มของเกษตรกรคนไทย 100 % เลยทีเดียว จึงทำให้มีผู้คนทุกอาชีพ ตั้งแต่พนักงานประจำ ยันดาราเข้ามาโพสต์ขายสินค้าที่มีผู้คนเข้ามาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งไปรษณีย์ไทยก็สัญญาว่าจะส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับพ่อค้าแม่ค้าและผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน