พลังงาน

คำถามสนั่น ZOOM แห่รับฟังความคิดเห็น “โรงไฟฟ้าชุมชน” ทางออนไลน์

กกพ. ขยับอีกก้าวเปิดรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนทางออนไลน์ มีผู้สนใจเข้าร่วมผ่านระบบ Zoom สุดคึกคักกว่า 500 คน เผยระเบียบใกล้งวดจ่อเปิดประมูล 22 มี.ค. นี้ ตีกรอบสุดเข้มเพื่อให้ผลประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกร นอกจากได้ถือหุ้นบุริมสิทธ 10% แล้วยังบวกผลตอบแทนสูงสุดตามที่ตกลงกับเอกชนด้วย แต่ก็เจอเงื่อนไขสุดหินสมาชิก 200 ครัวเรือต้องปลูกพืชพลังงานทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้ ปลดล็อกให้ใช้เชื้อเพลิงพืชพลังงานได้ 100% แต่ปิดตายห้ามใช้เชื้อเพลิงจากโรงงานมัน โรงงานปาล์ม กากอ้อยจากโรงงาน

วันนี้ (16 ก.พ.64) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยฝ่ายแผนและจัดหาพลังงาน ได้จัดสัมมนาออนไลน์  (Webinar) ผ่านระบบ Zoom เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) และร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า ตั้งแต่เวลา 08-30-12.00 น. ที่สำนักงาน กกพ. โดยมีนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เป็นประธาน และตัวแทนจากสำนักงาน กกพ.,กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ร่วมตอบข้อซักถาม โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์กว่า 500 คน

โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวระหว่างเปิดงานว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกรอบหลักการและเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-inTariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เน้นหาวัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิงจากพื้นที่โดยยึดเกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด และมีวิธีการคัดเลือกแบบการแข่งขันด้านราคา หรือ Competitive Bidding ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้รวบรวมหลักการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกรอบเบื้องต้น นำไปสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ต่างๆ จากประชาชนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 21 มกราคม- 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา และวันนี้ได้จัดสัมมนาทางออนไลน์ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อรับทราบปัญหาและความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะได้ทำกรอบที่สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ ถ้าหากมีข้อจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกรอบหลักเกณฑ์ต่างๆ  ทางสำนักงาน กกพ. ก็จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้พิจารณาปรับปรุงต่อไป

ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวไทยมุง” รายงานว่า นางสาวจีรวรรณ โรจน์เจริญชัย ผู้อำนวยการฝ่ายแผนและจัดหาพลังงาน กกพ. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรอบนโยบายของการจัดทำระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) และสาระสำคัญของระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ผ่านทางออนไลน์ว่า ที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้กำหนดกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ โดยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการเป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ได้แก่ พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25 ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์

ขณะนี้สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาความเห็นและประมวลความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงร่างระเบียบให้สมบูรณ์ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. เป็นระยะเวลา 15 วันแล้วปรากฏว่า มีการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทางสำนักงาน กกพ. จึงได้ปรับปรุงบางประเด็นแล้วนำกลับมาเปิดรับฟังจากผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ด้วย อาทิ การยื่นเสนอโครงการเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นบุริมสิทธิ 10% ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งได้เปิดให้สามารถเจรจาตกลงทำบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU กันก่อนได้ หลังจากนั้นค่อยนำหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทมายื่นเสนอเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วก่อนจัดทำเป็นสัญญา เช่นเดียวกับการตกลงซื้อขายเชื้อเพลิงก็เริ่มต้นที่ MOU กันก่อน หลังจากได้รับการคัดเลือกแล้วค่อยปรับเป็น Contract farming ต่อไป

ประเด็นการใช้วัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในส่วนของพืชพลังงาน 100% นั้น ผู้เสนอสามารถนำพืชพลังงานมาใช้ได้ตั้งแต่ 75-100% ตามมติ กพช.กำหนดให้นำพืชพลังงานผสมกับน้ำเสีย ของเสียได้ไม่เกิน 25% หมายความว่าจะใช้พืชพลังงาน 100% ก็ได้ แต่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้ามีราคาเดียวคือ พืชพลังงานผสมน้ำเสีย และของเสียไม่เกิน 25%

ด้านแหล่งข่าวจากภาคเอกชนผู้เข้าร่วมสัมมนาทางออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ในเวทีสัมมนาทางออนไลน์ครั้งนี้ปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก  ทั้งจากข้อความที่ส่งเข้าระบบ และผ่านทางไมค์ จนบางคร้ังทำให้ระบบ ZOOM ใการสะดุด โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงสัดส่วน 80% จากกลุ่มวิสาหกิจ และอีก 20% ทางโรงไฟฟ้าไปจัดหาเอง ซึ่งในสัดส่วน 20% นอกจากปลูกเองแล้วได้กำหนดให้ได้มาด้วยวิธีการจัดซื้อ แต่แหล่งวัตถุดิบที่จะได้มาของเชื้อเพลิงนั้นต้องเป็นชนิดเดียวกับที่วิสาหกิจชุมชนจัดหามาให้ และเป็นเกษตรกรเป็นเจ้าของเท่านั้น เพื่อให้ตรงกับหลักการให้เกษตรกรที่มาร่วมเป็นเจ้าของร่วมทำโครงการ

ทั้งนี้ อ้อย ซังข้าวโพด ถ้าเป็นเชื้อเพลิงอยู่ในมือของเกษตรกรก็อยู่ในหลักการใช้ได้ แต่ถ้าพ้นจากมือเกษตรกรไปแล้ว เช่น กากอ้อยอยู่ที่โรงงานแล้ว ก็ไม่อยู่ในข่ายเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ได้

ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงที่ได้จากโรงงานปาล์ม ซึ่งจะมีวัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิงจากผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงไม่ได้มาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยตรง จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้กับโรงไฟฟ้าชุมชนได้

ในประเด็นดังกล่าวนี้มีการสอบถามอย่างกว้างขวางจากนักลงทุนจากทางภาคใต้ โดยสอบถามว่า “ทางภาคใต้มีโรงงานปาล์มจำนวนมาก เมื่อมีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นข้างๆ ได้ซื้อเชื้อเพลิงจากโรงงานปาล์มที่ซื้อทลายปาล์ม ทางปาล์มจากวิสาหกิจชุมชน ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงจากวิสาหกิจชุมชนหรือไม่”

ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้ชี้แจงว่า “กรณีนี้ไม่อยู่ในข่ายเป็นเชื้อเพลิงจากวิสาหกิจเป็นเจ้าของ เพราะเมื่อวัตถุดิบขายให้โรงหีบน้ำมันปาล์มแล้วทลายปาล์มก็เป็นของโรงงานปาล์มไป”

สำหรับข้อสงสัยในหลักเกณฑ์กำหนดสมาชิกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 200 รายนั้น ได้ระบุว่า ให้ยึดตามทะเบียนบ้าน 200 ครอบครัว ไม่ใช่ 200 คน และในจำนวนทั้งหมด 200 ครอบครัวต้องปลูกพืชพลังงานทั้งหมด อาจจะมียกเว้นสำหรับผู้บริหารวิสาหกิจชุมชน 1-2 คน เพราะตามนโยบายต้องการให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายพืชพลังงาน

อีกประเด็นที่มีคำถามกันมากคือ การจับคู่ลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อยื่นประมูลโครงการนั้น กำหนดให้บริษัทจับคู่กับวิสาหกิจชุมชนได้เพียงรายเดียวเพื่อแข่งขันในพื้นที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่น บริษัท A จับคู่กับวิสาหกิจชุมชน ก.  แล้วบริษัท A ไม่สามารถไปจับคู่กับวิสาหกิจชุมชน ข. เพื่อยื่นประมูลแข่งขันกันเองในพื้นที่เดียวกันได้ เพราะจะทำให้บริษัทอื่นเสียโอกาส แต่บริษัท A จะกระจายจับคู่กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ เพื่อยื่นโครงการในพื้นที่ต่างๆ ได้

ส่วนผลประโยชน์ชุมชนนอกเหนือจากหุ้นบุริมสิทธิ 10% แล้ว ยังได้กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข  ซึ่งไม่มีการระบุมูลค่าไว้จำนวนเท่าไหร่ แต่อยู่ที่การตกลงกันระหว่างเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน

ขณะที่ระยะห่างชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าที่มีการสงสัยกัน แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดไว้ แต่ให้ยึดความสะดวกด้านการขนส่งวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี เมื่อโครงการได้รับการคัดเลือกแล้ว หลังจากขอรับใบอนุญาตจาก กกพ. ถึงจะยึดตามระเบียบกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าในการพิจารณาผลประโยชน์ให้แต่ละชุมชน

ขณะที่นายนที สิทธิประศาสน์ ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแหงประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้สายส่งทางภาคตะวันออก และภาคอีสาน เช่น จังหวัดสระแก้ว สกลนคร นครพนม เต็มหมดแล้ว จึงเสนอให้ทาง กกพ. ช่วยตรวจสอบหาทางเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสอบถามถึงโรงไฟฟ้าที่หมดสัญญา PPA กับทางภาครัฐแล้ว ถือว่าอยู่ในข่ายจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนได้หรือไม่ เพราะตรงตามเงื่อนไขที่ระบุว่า เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ชี้แจงว่าจะนำความเห็นดังกล่าวไปกำหนดระเบียบให้ชัดเจนต่อไป

สุดท้ายนางสาวจีรวรรณ ได้แจ้งถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางออนไลน์นี้แล้วจะจัดทำร่างระเบียบประกาศนำเสนอ กกพ. พิจารณาทั้งผลการรับฟังความเห็น และพิจารณาร่างระเบียบประกาศ เมื่อผ่านความเห็นชอบก็จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อออกประกาศเชิญชวนการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป

“ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเป็นคู่สัญญา เพื่อออกประกาศการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า เดิมกำหนดในเดือน ก.พ.นี้ แต่คงไม่น่าจะทันแล้ว ต้องเลื่อนออกไป หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ในวันที่ 22 มีนาคม -2 เมษายน 2564 โดยยื่นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นหลัก จากนั้นจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค ประกาศภายในเดือน เม.ย.จากนั้นพิจารณาข้อเสนอด้านราคาด้วยวิธี Competitive Bidding และกำหนดลงนามในสัญญาวันที่ 28 ก.ย. 64 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ วันที่ 28 ก.ย. 67” ผู้อำนวยการฝ่ายแผนและจัดหาพลังงาน กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button