“น้ำตาลบุรีรัมย์” กลับมาเทิร์นอะราวนด์
บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR โชว์ผลการดำเนินงานปี 2563 เทิร์นอะราวนด์ พลิกทำกำไรสุทธิเติบโต 101% หลังธุรกิจน้ำตาลสดใสจากปัจจัยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในจังหวะราคาตลาดโลกปรับตัว พร้อมบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ด้านบอร์ดไฟเขียวอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น ขณะที่ผู้บริหาร BRR เร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในทุกมิติดันยิดล์การผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่ม ขณะที่กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยมีสัญญาณดีขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย หลังรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯ สามารถทำกำไรสุทธิรวมได้ 6.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 511.77 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการทำผลประกอบการกลับมาเทิร์นอะราวนด์ ซี่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 625 ล้านบาท แม้รายได้จากการขายและการบริการทำได้ 3,892 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 จึงมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานในปี 2563 ในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR กล่าวว่า ภาพรวมในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะรักษาอัตราการเติบโตที่ดี แม้ปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้จากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบบซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อไร่ให้มากขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำด้านการจัดเก็บผลผลิตเพื่อส่งมอบอ้อยที่มีคุณภาพให้แก่โรงงานที่ช่วยส่งเสริมการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ได้สูงสุด ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตน้ำตาลต่อหน่วยต่ำลงและช่วยให้ BRR สามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากธุรกิจน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นในช่วงโอกาสที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มเป็น 16-17 เซนต์ต่อปอนด์
ส่วนกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ หรือ SEW ที่เป็นการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจ มีแนวโน้มดีขึ้นโดยได้รับการตอบรับจากลูกค้าในประเทศเพิ่มขึ้น หลังปรับแผนหันมาบุกทำตลาดภายในประเทศ ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้นก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย จึงทำให้ BRR สามารถบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาผลผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียวได้ดีขึ้น