สตาร์ทอัพ มจธ.ร่วมมือสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ผลิตแผ่นฟิล์มฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะอยู่กับโลกไปอีกนาน ประกอบกับการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้มีการคิดค้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะจากการสัมผัสพื้นผิวจากบริเวณต่าง ๆ
CUTECH+ แผ่นฟิล์มฆ่าเชื้อ
บริษัท Smart Med group บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การดูแลของ รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล Co-founder & Managing Director นายภวนันท์ ฤทธาเวช Co-founder & Sales Director ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ในการนำเทคโนโลยี แผ่นฟิล์มใสฆ่าเชื้อ หรือ Smart Film ที่ใช้เทคโนโลยี CUTECH+ (ซียูเทคพลัส) เป็นเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ “การฝังอนุภาคนาโนของทองแดงลงบนแผ่นฟิล์มใส” ผลิตเป็น “แผ่นฟิล์มฆ่าเชื้อ” ซึ่งมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ 99.9% ภายใน 5 นาที
รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ กล่าวว่า “Smart Film คือ ฟิล์มที่ฝังอนุภาคนาโนของทองแดงลงบนแผ่นฟิล์ม ด้วยเทคโนโลยี Cufitec ลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ได้ถึง 99.9% ภายในเวลา 5 นาที และ 90% ภายใน 1 นาที Smart Film จะแตกต่างจากฟิล์มทั่วไป เพราะใช้นวัตกรรมการผลิตและฝังอนุภาคนาโนทองแดงลงไปในแผ่นฟิล์มไม่ใช่การชุบ หรือเคลือบ ทำให้แผ่นฟิล์มมีความใสสวยงาม ง่ายต่อการใช้งานมากกว่าฟิล์มทั่วไป และมีอายุการใช้งานได้นาน มากกว่า 6 เดือน โดยหลักการทำงานของแผ่นฟิล์มฆ่าเชื้อจะทำงานเมื่อเชื้อไวรัสและแบคทีเรียสัมผัสกับหน้าฟิล์ม อนุภาคนาโนทองแดงที่ถูกฝังอยู่บนแผ่นฟิล์มนั้น เป็นอนุภาคที่ให้อิเล็คตรอนง่าย และจะเหนี่ยวนำกับโมเลกุลของน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อเข้ามาใกล้ผิวฟิล์มนั้น จะทำปฏิกิริยาเกิดไฮดรอกไซด์ไอออน (OH-) จากนั้นอนุภาค Cu+ และ OH- ที่อยู่รอบๆ จะจัดการกับไวรัสและแบคทีเรียที่สัมผัสกับฟิล์มได้ ซึ่งอนุภาคของทองแดงไม่มีอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจากการสัมผัส
รศ. ดร.อนรรฆ เล่าถึงที่มาว่า ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น ได้พัฒนากระบวนการนำทองแดงที่มีขนาดเล็กระดับนาโนไอออน ฝังเข้าไปในแผ่นฟิล์มที่มีรูพรุนที่ตาเรามองไม่เห็น ทางบริษัท Smart Med group จึงได้หารือกับทีมวิจัยของญี่ปุ่นเพื่อทดลองนำเอาทองแดงเคลือบบนพลาสติกใสชนิด PET จากนั้นทาง Smart Med group ก็นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแผ่นฟิล์มที่สามารถยึดติดกับพื้นผิวได้ ซึ่งกระบวนการทากาวบนแผ่นใสนั้นถือว่ามีความยากระดับหนึ่งเลยทีเดียวมา จนกระทั่งผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายให้กับองค์กรที่สนใจ โดยมีชื่อทางการค้าว่า “CUtech+” ผลิตภัณฑ์นี้เป็นแผ่นฟิล์ม ที่มีทั้งแบบแผ่น แบบม้วน และรับติดตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่ ติดตั้งง่ายใช้ได้กับทุกพื้นผิว เช่น ราวมือจับ บานประตู ที่จับรถเข็น ลูกบิดประตู ปุ่มกดตู้เอทีเอ็ม ราวบันไดเลื่อน เป็นต้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Smart Med group สตาร์ทอัพ มจธ. กับทางทีมวิจัยญี่ปุ่น
แผ่นฟิล์มฆ่าเชื้อ CUtech+ ได้รับการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับสากลตาม ISO ไม่ว่าจะใช้กับแบคทีเรียหรือไวรัส โดยมีการทดสอบเทคโนโลยี Cufitec จากสถาบัน Hatano Research Institute (HRI), Food and Drug Safety Center (FDSC) ประเทศญี่ปุ่น ทั้งในด้านความเป็นพิษเฉียบพลัน การระคายเคืองต่อดวงตา ระคายเคืองต่อผิวหนัง การแพ้ทางผิวหนัง ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ และผ่านการทดสอบที่ Nelson Labs ประเทศสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันได้มีการทดสอบแล้วว่าสามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้
รศ. ดร.อนรรฆ กล่าวว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทาง Smart Med group ได้บริจาคฟิล์มฆ่าเชื้อ ให้กับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีการติดตั้งใน 2 อาคาร ตามจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ที่จับราวในห้องน้ำ ประตู เคาน์เตอร์จ่ายยา จ่ายเงิน และพยาบาล ปุ่มกดลิฟต์ เอทีเอ็ม และทัชสกรีนต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสทั้งหมด พร้อมข้อมูล QR code เพื่อให้สแกนกลไกการทำงานของฟิล์มฆ่าเชื้ออีกด้วย และขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้ง ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมีการรับประกันอายุการใช้งาน 6 เดือน สาเหตุที่รับประกันไว้ 6 เดือน เนื่องจากกาวมีอายุการใช้งาน ซึ่งกาวที่ติดแผ่นฟิล์มมีโอกาสที่จะลอกหรือเกิดฟองอากาศถ้ามีการแตะสัมผัสบ่อย แต่ความสามารถในการฆ่าเชื้อไม่ลดลง
นอกจากนี้ ทางบริษัท Smart Med group ยังได้ร่วมมือกับ บริษัทสโนว์บอล เจแปน บริษัทเทรดของญี่ปุ่น ซึ่งสนใจที่จะเอาฟิล์มฆ่าเชื้อที่ผลิตในไทยส่งไปขายที่ประเทศในแถบตะวันออกกกลาง ซึ่งก็จะเป็นโอกาสดีที่ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยจะออกไปสู่ต่างประเทศ
รศ. ดร.อนรรฆ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกำลังพัฒนาและวางแผนนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ อีกในอนาคต เช่น หน้ากากอนามัยฆ่าเชื้อโรค ชุด PPE ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน เป็นต้น