ข่าวดี ! ราคาน้ำมันดิบลดลงจากโควิดระบาดระลอกใหม่และโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต
สนพ. คาดราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง จากปัจจัยผลประชุมโอเปกพลัสได้เพิ่มกำลังการผลิต และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศแถบยุโรป
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากนักลงทุนกังวลว่าอุปทานในตลาดจะเพิ่มขึ้น จากผลการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมามีมติเพิ่มปริมาณการผลิตเป็นขั้นบันไดในช่วงพฤษภาคม – กรกฎาคม นี้ สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าในพฤษภาคม – มิถุนายน โอเปกพลัสจะยังคงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ 6.9 ล้านบาร์เรล/วัน เท่ากับเมษายน 2564 อีกทั้งซาอุดีอาระเบียที่ลดการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายน จะปรับปริมาณลดการผลิตน้ำมันดิบเป็น 0.75 ล้านบาร์เรล/วัน และ 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน และยุติการลดการผลิตเพิ่มเติมตั้งแต่กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ขณะที่อุปสงค์น้ำมันยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศในยุโรปยังคงรุนแรง โดยมีการประกาศล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่
ด้านค่าการตลาดน้ำมันของไทยนั้น รัฐบาลไทยมีนโยบายยกเลิกการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการกำหนดโดยกลไกการค้าเสรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่ง สนพ. ได้คำนวณและเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านทาง www.eppo.go.th เพื่อให้สารธารณะใช้ในการอ้างอิง (มิได้เป็นการกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้อง ซื้อ-ขาย น้ำมันเชื้อเพลิงตามโครงสร้างราคาจากการคำนวณของ สนพ.) ซึ่งปัจจุบันค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ในช่วงที่เหมาะสมตามที่ กบง. ได้เห็นชอบไว้
“การเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงพลังงาน มีมาตรการดูแลราคาพลังงานตลอดช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ จึงขอให้ทุกคนเดินทางใช้พลังงานอย่างประหยัด ปลอดภัย สุขภาพดี และมีความสุขรับปีใหม่ไทย” นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้าย
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (29 มีนาคม – 4 เมษายน 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 62.92 และ 60.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.61 และ 0.71 เหรียญสหรัญต่อบาร์เรล
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.41,71.05 และ 72.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.09, 2.06 และ 1.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นน้ำมันในญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย
ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 67.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นอย่างไรก็ตามราคาได้รับกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ค่าเงินบาทของไทย อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.23 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.4204 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.52 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.14 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.41 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ 0.71 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.58 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 4 เม.ย. 64) กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 57,104 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 34,503 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 22,601 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 34,115 ล้านบาท บัญชี LPG -11,514 ล้านบาท)