TTA พลิก ! กลับมามีกำไรในไตรมาสที่ 1 “โทรีเซน ชิปปิ้ง” โชว์ศักยภาพครองอันดับ 2 ของโลก
TTA มีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 1/2564 จำนวน 189.1 ล้านบาท สืบเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
- กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือครองตำแหน่งผู้นำในตลาดไว้อย่างมั่นคง โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปีก่อน
- กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบแตะระดับ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.06 เท่า
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานรายได้รวมในไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,447.2 ล้านบาท โดยผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 1/2564 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 72 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 141 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 189.1 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง โดยอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 23 ส่วน EBITDA เติบโตร้อยละ 270 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 494.3 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสที่ 1/2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ (กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 50 ร้อยละ 17 ร้อยละ 15 และร้อยละ 18 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 788.7 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 TTA มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 31,813.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 หรือ 784.6 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ จากการรับมอบเรือมือสอง จำนวน 1 ลำ ในเดือนมกราคม 2564 นอกจากนี้ TTA ยังมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดภายใต้การบริหารซึ่งประกอบด้วยเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7,589.2 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.06 เท่า
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า “โดยปกติ ดัชนีบอลติค (BDI) ในไตรมาสแรกจะต่ำกว่าไตรมาสอื่นในแต่ละปี และต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าของปีก่อนตามปัจจัยตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าดัชนีบอลติคและอัตราค่าระวางเรือในไตรมาส 1/2564 กลับทะยานไปแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ เนื่องจากปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยต่อวันของโทรีเซน ชิปปิ้ง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับโทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยองค์กรที่ปรึกษาอิสระด้านการเดินเรือ Liengaard & Roschmann ได้รายงานผลการดำเนินงาน Vesselindex ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และมีการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนผู้ให้บริการขนส่งทางเรือที่มีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าดีที่สุดในปี 2563 ซึ่งโทรีเซน ชิปปิ้ง คว้าอันดับที่ 2 มาครองได้ ทำผลงานเหนือกว่าอีก 23 บริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ทั้งยังครองตำแหน่งอยู่ใน Top 5 ของโลกติดต่อกัน 3 ปีซ้อน
“ธุรกิจขนส่งทางเรือในไตรมาสที่สองของปีนี้มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากยังมีปัจจัยตามฤดูกาลอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการค้าสินค้าแห้งเทกอง อาทิ การส่งออกข้าวโพดของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ช่วยส่งเสริมความต้องการสินค้าเทกอง อันจะส่งผลไปถึงค่าระวางเรือในท้ายที่สุด ดังนั้น ภาพรวมปี 2564 จึงมีแนวโน้มที่เป็นบวก แม้ยังคงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอยู่บ้างก็ตาม”
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะที่เมอร์เมด มาริไทม์ เริ่มต้นปี 2564 ด้วยความสำเร็จ มีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) แตะระดับ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ สิ้นไตรมาส นอกจากนี้ เมอร์เมดฯ ยังได้มองหาโอกาสใหม่ในงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพิ่มเติม พร้อมเริ่มดำเนินงานไปแล้ว 2 โครงการ ในไตรมาส 1/2564 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มในอนาคตของบริษัทที่ให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลยังคงเป็นบวกในระยะกลางถึงระยะยาว โครงการลงทุนต่างๆ ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตลาดหลักสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง อีกทั้งแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นของประเทศนอกทวีปยุโรปจะเพิ่มโอกาสของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
“สำหรับกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรนั้น บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/2564 แม้ว่าจะเป็นช่วงอ่อนตัวตามฤดูกาลของธุรกิจ เนื่องจากเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง”
ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ : ในไตรมาสที่ 1/2564 ค่าเฉลี่ยดัชนีบอลติคขึ้นไปแตะระดับที่ 1,739 จุด จากค่าเฉลี่ย 592 จุด ในไตรมาสที่ 1/2563 ทั้งนี้ รายได้ค่าระวางของโทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ที่ 1,725.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นและจำนวนวันทำงานที่เพิ่มขึ้นของเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของ เนื่องจากมีเรือที่รับมอบเข้ามาเสริมกองเรือในเดือนมกราคม
นอกจากนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงรักษาค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) อยู่ในระดับต่ำที่ 4,088 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยในไตรมาสที่ 1/2564 อัตราการใช้ประโยชน์เรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของยังคงมีอัตราสูงถึงร้อยละ 100 ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ 11,392 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 123 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 431.6 ล้านบาท ในทำนองเดียวกัน EBITDA ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2,985 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 11.5 ล้านบาท เป็น 354.2 ล้านบาทดังนั้น โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 205.3 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 266 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือจำนวน 24 ลำ ประกอบด้วยเรือซุปราแมกซ์ 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ 2 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 12.95 ปี
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง : กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีรายได้จำนวน 565.8 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2564 โดยอัตราการใช้ประโยชน์เรือ (performing vessel utilization rate) ลดลงจากร้อยละ 85 ในไตรมาสที่ 1/2563 เป็นร้อยละ 60 ในไตรมาสที่ 1/2564 สาเหตุหลักมาจากโครงการหนึ่งสิ้นสุดงานก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งได้มองหาโอกาสใหม่ในงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งได้เริ่มขยายการให้บริการงานวางสายเคเบิลใต้ทะเลมาตั้งแต่ปีก่อน และดำเนินงานไปแล้วถึง 2 โครงการในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่มีอัตรากำไรที่ดี ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ -16 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นร้อยละ 9 เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนที่ดีขึ้นและมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นจากโครงการที่ใช้เรือและโครงการวางสายเคเบิลใต้ทะเล นอกจากนี้ กำไรขั้นต้นยังปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 147 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 53.3 ล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 72.7 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2564 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ ณ สิ้นไตรมาส สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาให้บริการที่คาดว่าจะส่งมอบได้ในปี 2564 จำนวน 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร : รายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ 514.1 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จากการขายปุ๋ยภายในประเทศจะเติบโตร้อยละ 36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณขายปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 31.8 พันตัน ขณะที่ปริมาณส่งออกปุ๋ยลดลงร้อยละ 95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น
ดังนั้น ปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมดลดลงร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 33.3 พันตัน ในไตรมาสที่ 1/2564 แต่ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้น (spread) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นร้อยละ 22 ทั้งนี้ ตามรายได้ที่ลดลง กำไรขั้นต้น (spread) จึงลดลงร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 111.3 ล้านบาท โดยสรุป ในไตรมาสที่ 1/2564 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 10.3 ล้านบาท นอกจากธุรกิจปุ๋ยเคมีแล้ว PMTA ยังให้บริการจัดการพื้นที่โรงงาน โดยมีพื้นที่ให้บริการรวมทั้งสิ้น 66,420 ตารางเมตร
กลุ่มลงทุนอื่นๆ :
กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและกลุ่มการลงทุนอื่น
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 167 สาขา ทั่วประเทศ
ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 9 สาขา ทั่วประเทศ โดยในไตรมาสนี้ได้เปิดสาขาใหม่อีก 1 สาขาที่ W District ตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า BTS สถานีพระโขนง
- กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำ และโลจิสติกส์
บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 80.5 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7
เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในเชิงกลยุทธ์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นโยบายการลงทุนของบริษัทฯ คือ การสร้างความเติบโตอย่างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน ซึ่งมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน (แต่ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้) ประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ กลุ่มธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.thoresen.com