‘UBE’ ติดอาวุธชีวภาพ เสริมพลังอุบลโมเดล ช่วยเหลือเกษตรกรอินทรีย์
‘บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล หรือ UBE ผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้กรอบ 4 ข้อ เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดผลงานวิจัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมลงสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน BCG Model พร้อมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับ UBE ในอนาคต
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ)หรือ UBE ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในกรอบความร่วมมือ 4 ข้อ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ดังนี้ 1.) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมลงสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร พร้อมพัฒนากระบวนการผลิต และการใช้สารชีวภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการเกษตร รวมถึงเป็นที่ปรึกษางานด้านการผลิต และการวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ทางเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร 2.) ร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล องค์ความรู้ บุคลากร ของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินงานในโครงการต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย 3.) ร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน BCG Model และ 4.) ความร่วมมือในกิจกรรมอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง “วว.” และ “UBE”
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากผลงานวิจัยของ วว. ให้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และครอบคลุมความต้องการของเกษตรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุน การออกแบบเครื่องจักร และโรงงานผลิต ตลอดจนการขายและการตลาด ทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้สำเร็จตามเป้าหมาย ภายใต้กลยุทธ์ที่กำหนดไว้ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำงานแบบบูรณาการรัฐร่วมเอกชน และเกษตรกร ที่เราเรียกว่า “อุบลโมเดล” ที่เป็นกลยุทธ์ที่เราให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรต้นนำ ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรอินทรีย์ที่ทำสัญญา Contract farming กับบริษัทฯ ที่ต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล จะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องการใช้สารชีวภัณฑ์มาเพิ่มผลผลิต การอารักขาพืช และการดูแลรักษาแปลงเกษตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และบริษัทฯ ก็สามารถรับซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
หน่วยงานที่มาร่วมมือ วว. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในเรื่องการวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Bio-based โดยทางศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า วว. เป็นหน่วยงานหลักด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ที่มีความพร้อม ความเชี่ยวชาญในการบูรณาการงานด้านสารชีวภัณฑ์อย่างครบวงจร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเป็นคลังสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการ มีผลการศึกษาวิจัยระดับประเทศและภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม รวมถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และทดสอบด้านพิษวิทยาของจุลินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการไปถึงระดับโรงงานนำทาง นอกจากนี้นักวิจัย/บุคลากรของ วว. ล้วนแต่มีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี เพื่อผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพานิชย์และเชิงสังคม นับเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ และข้อมูลที่แท้จริงของเกษตรกรมาเชื่อมโยงให้ทางวว. ได้ช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วเป็นการเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ให้เกิดเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ในประเทศ เสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ต้นทุนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนคิดค้นแนวทางเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ UBE เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากการทำ MOU ในครั้งนี้ จะเป็นในรูปแบบผลิตภัณฑ์ด้านปัจจัยการผลิตพืช ที่มาจากความร่วมมือ ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช อาทิ ปุ๋ยชีวภาพ PGPR, ชีวภัณฑ์บิวเวอร์เรีย, ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการคัดเลือกเชื้อที่เหมาะสม ผ่านขั้นตอนการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพ และอยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น ชนิดผงสปอร์ ชนิดน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ คาดว่าจะมีความร่วมมือด้านการพัฒนาการวิจัยอุตสาหกรรมชีวภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน BCG Model ในอนาคต เช่น เคมีภัณฑ์ชีวภาพ, ไบโอพลาสติก, อาหาร, เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น โดยมุ่งหวังที่จะต่อยอดให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้เสริมให้กับบริษัทฯ ในอนาคตอีกด้วย