การตลาด

ดีพร้อม เปิดนโยบาย “เกษตรอุตสาหกรรม’65” เสริมแกร่ง ผปก. คาดสร้างมูลค่ากว่า 1.2 พันลบ. ชี้ตลาดอาหารสุขภาพ ทางรอดสร้างรายได้ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดแนวทางส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ปี 2565 ด้วยนโยบายดีพร้อมแคร์เกษตรอุตสาหกรรม พัฒนาการดำเนินการให้สอดรับกับบริบทของกิจการ (C-Customization) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้วยดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 แห่งทั่วประเทศ กระจายการส่งเสริมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ (A-Accessibility) ปฏิรูปการส่งเสริมให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (R-Reformation) และเครือสร้างพันธมิตรร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ บูรณาการความร่วมมือในทุกมิติ (E-Engagement) สนับสนุนการใช้อีคอมเมิร์ชเสริมศักยภาพเพื่อการสร้างรายได้ ชี้เทรนด์อาหารสุขภาพ ตลาดเติบโตสูงสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับดีมานด์ผู้บริโภค โชว์ตัวอย่าง Fresh & Friendly Farm ผู้ประกอบการปรับตัวไว เปลี่ยนสู่ตลาดออนไลน์ ต่อยอดพัฒนาสินค้าเห็ดแปรรูปเป็นลูกชิ้นปลาหมึกแพลนต์เบส คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15 ล้านบาทในสิ้นปีนี้

 ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มีการขยายตัว ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมการบูรณาการความร่วมมือในทุกองคาพยพ มุ่งเน้นสร้างการพึ่งพาตนเองของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกษตรอุตสาหกรรม” และเป็นนโยบายสำคัญที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยศาสตร์ของอุตสาหกรรม (Industrialization) พัฒนาองค์ความรู้ในด้านการประกอบการ ส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกกระบวนการ จากการเพาะปลูกไปจนถึงการจัดจำหน่าย พร้อมส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อขยายโอกาสในการจัดจำหน่าย รวมทั้งการบริหารจัดการระบบหลังบ้าน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเป็นการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น โดยตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563-2564 สร้างผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ กว่า 8,000 คน ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมเดิมให้มีศักยภาพกว่า 1,800 กิจการ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ 600 ผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้มั่นคงกว่า 2,550 ล้านบาท ถือเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพพร้อมรองรับความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดีพร้อม ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย “ดีพร้อมแคร์เกษตรอุตสาหกรรม” มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการในทุกมิติ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ พร้อมการยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม  ประกอบด้วย

  • C-Customization ปรับแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความหลากหลายของการดำเนินการสอดคล้องกับดีมานด์ของผู้ประกอบการ เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจเป็นนักธุรกิจเกษตร รวมทั้งพัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด  ทั้งยังปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละภูมิภาค ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรตามความต้องการของชุมชน ตัวอย่างเช่น เครื่องขอดเกล็ดปลา เครื่องเผาข้าวหลาม และเครื่องตัดอ้อยขนาดเล็ก เป็นต้น พร้อมปรับใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BIG DATA โดยพัฒนาระบบวิเคราะห์ปัญหาการประกอบการ  (I-Business Check up)  เพิ่มความแม่นยำในการการกำหนดทิศทางและมาตรการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน โดยเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จัดทำฐานข้อมูลคุณภาพ สำหรับใช้วิเคราะห์แผนพัฒนาที่ตรงจุด ผ่านหลากหลายเครื่องมือ อาทิ การวิเคราะห์สถานประกอบการ (SHINDAN), การวิเคราะห์ DNA ของธุรกิจ และการทำโมเดลวิเคราะห์ตัวแปรไปสู่เป้าหมายองค์กร หรือ Business Canvas เป็นต้น
  • A-Accessibility เพิ่มศักยภาพการให้บริการผ่านการดำเนินงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ยกระดับการส่งเสริมการใช้งานเครื่องจักรกลให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ เครื่องปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ เครื่องให้ปุ๋ยอัตโนมัติ รถเกี่ยวอ้อย และบริการ OEM แปรรูปผลผลิตจากข้าว พร้อมประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพของดีพร้อมไอเอดแพลตฟอร์ม(DIPROM I-AID Platform) กระจายโอกาสในการใช้งานเครื่องจักร การให้บริการด้านการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (DIPROM PACK) และการให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อการวางแผนปัจจัยทางธุรกิจ โดยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมมากขึ้น การดำเนินงานในปีนี้จึงเพิ่มเป้าหมายการใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กที่มีความจำเป็นในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในยุคที่ต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนแรงงาน อีกทั้ง เป็นการขยายความช่วยเหลือสู่ผู้ประกอบการเกษตรฐานราก พร้อมขยายการให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการผ่านช่องทางออนไลน์ที่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นปกติใหม่ ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการที่ทั่วถึง
  • R-Reformation ปฏิรูปโครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบาย BCG โดยได้ริเริ่มทดลองดำเนินงานโครงการ The Gifted DIPROM BCG เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพแก่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยังยื่น โดยการพัฒนาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปฏิรูปการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการให้มีอาวุธครบด้านในการเริ่มหรือปรับปรุงธุรกิจผ่านโครงการ DIPROM Agro Beyond Academy ปั้นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมมืออาชีพ ที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้จริงในกิจการ และสามารถสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างธุรกิจ การปรับเปลี่ยนโครงการและเนื้อหาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน ผ่านกิจกรรมดีพร้อม จีเนียส อะคาเดมี (DIPROM Genius Academy) สร้างงาน สร้างอาชีพ ผ่านโครงการปลูกปั้น รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านกิจกรรม DIPROM Hero
  • E-Engagement ขยายพันธมิตรเกษตรอุตสาหกรรม โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่งเสริม สนับสนุนทุนเพื่อธุรกิจ เปิดช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ ในช่องทางตลาดใหม่ หรือ Modern Trade รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อชี้เป้าการพัฒนา และบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้การพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีสามารถตอบสนองผู้ประกอบการมากที่สุด ทั้งขยายความร่วมมือไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาหอการค้า และภาคเอกชน เช่น เครือSCG, ปตท., บากจาก และ เครือCP เป็นต้น เพื่อการต่อยอดและสร้างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

          ดร.ณัฐพล ระบุว่า ดีพร้อม มุ่งหวังให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพไปสู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยได้พัฒนาเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ให้สามารถปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้ ได้มอบหมายให้ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รับหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

โดยเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม ดีพร้อม ได้ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านโครงการ ปั้น SMEs สู่ B2C ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ สู่ตลาดอีคอมเมิร์ช (e-Commerce) ทำให้ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก้าวผ่านวิกฤตและสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมเสริมทักษะการวางแผนโลจิสติกส์ให้มีศักยภาพ และสนับสนุนการพัฒนาเครื่องจักรกลขนาดเล็กเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของผู้ประกอบการ เสริมศักยภาพให้พร้อมแข่งขันอย่างสมบูรณ์

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเกษตรอุตสาหกรรมเป็นที่น่าจับตา ด้วยปัจจัยจากสถาการณ์ต่างๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และด้วยศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้านการเกษตร ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสุขภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปีที่ผ่านมาตลาดอาหารสุขภาพของไทยเติบโตถึง 5,400 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดทั่วโลกเติบโตจากการประเมินของยะฮูไฟแนนช์ (Yahoo Finance) สูงถึง 6 ล้านล้านบาท โดยอาหารสุขภาพได้แบ่งประเภทออกเป็นหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้บริโภค อาทิ อาหารคีโต สำหรับผู้ที่ต้องการลดปริมาณการรับประทานแป้ง อาหารแพลนต์เบส สำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคโปรตีนที่ทำมาจากพืช ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดในกลุ่มอาหารสุขภาพนี้ มีช่องทางสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการเข้าถึงส่วนแบ่งชิ้นสำคัญ โดย Fresh&Friendly Farm ผู้ผลิตเห็ดออร์แกนิค ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีการทดลองพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช (เห็ดสายพันธุ์ต่าง ๆ)  หรือ แพลนต์เบส ซึ่งได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจาก ดีพร้อม ไปเป็นแรงบันดาลใจและต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดี ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

นางสุชาดา กุลมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรช แอนด์ เฟรนด์ลีฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เข้าร่วมอบรมในโครงการที่ดีพร้อมจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ทำให้บริษัทเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยดีพร้อมได้ช่วยต่อยอดจากมาตรฐาน GMP สู่มาตรฐานฮาลาล สร้างโอกาสในการจัดจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมการสร้างแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของธุรกิจจากโครงการดีพร้อม จีเนียส อะคาเดมี่ (DIPROM Genius Academy) และได้เปลี่ยนจากการเพาะเห็ดขายมาสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าในตลาดสินค้าออแกนิก ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจประสบปัญหา แต่จากการเข้าร่วมโครงการกับดีพร้อมทำให้มองเห็นทางออกของธุรกิจมากขึ้น ผ่านการใช้ช่องทางตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ยังได้รับแนวคิดจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการแปรรูปเห็ดออรินจิเป็นลูกชิ้นปลาหมึกแพลนต์เบส ทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 สามารถรักษายอดขายสินค้าได้กว่า 10 ล้านบาท และมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 15 ล้านบาทในสิ้นปีนี้

                       

“…ในอดีตภาพการดำเนินธุรกิจ เรามักมุ่งหวังไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่การส่งเสริมของดีพร้อมทำให้เรารู้ว่า ยังมีอีกหลายมิติที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม และสามารถต่อยอดพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ เพื่อให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งทั้งในแง่ขององค์กร และผลิตภัณฑ์ การสร้างมาตรฐานเพื่อให้ต่างชาติยอมรับ รวมไปถึงการแสวงหาโอกาสทางการตลาดจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ดีพร้อมจึงไม่ใช่แค่หน่วยงานที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ แต่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่พร้อมพาเราก้าวข้ามวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น…” นางสุชาดา กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button