การเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน คุมเข้มมาตรการ Zero Covid ผลไม้ไทยทั้งระบบ

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน คุมเข้มมาตรการ Zero Covid ผลไม้ไทยทั้งระบบ ‘เฉลิมชัย’ ย้ำชัด!! ทุเรียนไทยทุกลูกต้องปลอดภัยตั้งแต่สวน จนถึงมือผู้บริโภค ด้วยมาตรการ GAP Plus และ GMP Plus

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานมาตรการ Zero Covid ระบบห้องเย็น (Cold Chain) ผลไม้ไทยทั้งระบบ จัดโดย สมาคมทุเรียนไทย ร่วมกับ จังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมทุเรียนไทย เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ และตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ เข้าร่วม ณ โรงคัดบรรจุ บริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าและสร้างรายได้เป็นผลไม้อันดับ 1 ให้กับประเทศไทย ปีละกว่าแสนล้านบาท เพราะทุเรียนไทยมีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การส่งออกทุเรียนได้รับผลกระทบ แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเพราะทุกฝ่ายร่วมมือกัน ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกร ล้ง หน่วยงานราชการ ทำงานและร่วมมือกันทำให้ทุเรียนไทย เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้มีการส่งเสริมการขายภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการ Zero Covid และใช้มาตรการ GAP Plus ที่สวนทุเรียน และ GMP Plus ที่ล้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยทุกลูกต้องมีความปลอดภัย หากเราเดินในแนวทางเดียวกันก็จะไม่เกิดปัญหา จึงขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เดินหน้ามาตรการต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมรับมือผลผลิตผลไม้อื่นๆ ที่จะออกในเดือนหน้า

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อเกษตรกรชาวสวนทุกคน ขอให้ช่วยกันทำให้มาตรการนี้เกิดขึ้นได้จริง ใช้วิกฤตินี้พลิกโอกาส ฟื้นเศรษฐกิจ และใช้มาตรการดังกล่าวในสินค้าส่งออกทุกประเภท” รมว.เกษตร กล่าว

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงมาตรการที่จังหวัดได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น ว่า จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสมาคมทุเรียนไทย ได้เตรียมการประชุมร่วมกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และได้ออกมาตรการที่เข้มข้นตั้งแต่สวนทุเรียน ต้องตัดทุเรียนที่มีคุณภาพและเปอร์เซ็นแป้งต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ กำหนดวันตัดทุเรียนแต่ละพันธุ์ ในส่วนของล้งมีการดำเนินการทำความสะอาด และตรวจ ATK ทุกวันศุกร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลผลิตทุเรียนที่ส่งออกจากล้งปลอดเชื้อเชื้อโควิด19

โอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมขั้นตอนการคัดบรรจุทุเรียน ตลอดจนขั้นตอนการขนส่งทุเรียนผ่านรถห้องเย็น (Cold Chain) ซึ่งจะต้องมีการพ่นฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดทุกกระบวนการอย่างเคร่งครัด

สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2565 (ณ วันที่ 11 เมษายน 2565) การออกดอก ทุเรียนภาคตะวันออกออกดอกแล้วร้อยละ 100 เนื้อที่ยืนต้น รวมทั้งสิ้น 512,947 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 14.04 โดยพื้นที่มีการเพิ่มทุกปีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทุเรียนที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีราคาสูงตามไปด้วย เนื้อที่ให้ผลรวมทั้งสิ้น 335,278 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 4.79 และปริมาณผลผลิตรวม 732,330 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 26.42 เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่ดีจากราคาจูงใจ และต้นทุเรียนมีอายุเพิ่มขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2565 คาดการณ์มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดมากจำนวน 370,715 ตัน ร้อยละ 50.62

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button