STARK เสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด ชูดอกเบี้ย 2.90-4.20% เริ่มจองซื้อ 9-11 พ.ค.นี้
บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด อายุ 9 เดือน 2 ปี และ 3 ปี ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ชูดอกเบี้ย 2.90 – 4.20% ดีเดย์จองซื้อวันที่ 9-11 พฤษภาคมนี้ ผ่าน 6 สถาบันการเงิน ทริสเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ระดับ “BBB+” แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” พร้อมเดินหน้าพัฒนาสร้างการเติบโตต่อองค์กรอย่างยั่งยืนผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก
นายประกรณ์ เมฆจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ผู้นำด้านการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า STARK เตรียมพร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 โดยเป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 3 ชุด แบ่งเป็น
หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 9 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.90 -3.10% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้
หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.60 -3.80% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้
หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.00 -4.20% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้
สำหรับหุ้นกู้ STARK เตรียมเปิดให้ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ จองซื้อระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2565 กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท (สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่) ทั้งนี้ STARK ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ระดับ “BBB+” แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” โดยอันดับความน่าเชื่อถือสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้ง 3 ชุดจะเสนอขายผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 6 ราย ได้แก่
1) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-888-8888 กด 819 โดยบุคคลธรรมดาจองซื้อทางออนไลน์ผ่านhttps://www.kasikornbank.com/kmyinvest (ยกเว้นบุคคลสัญชาติต่างด้าว และนิติบุคคล สามารถจองซื้อผ่านสำนักงานใหญ่และสาขา)
2) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) โทร. 1428 กด#4
3) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) (เสนอขายเฉพาะต่อผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น)
4) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทร 02-658-5050
5) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด โทร 02-009-8352-56
6) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอเชีย เวลท์ จำกัด โทร 02-207-2124
สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ STARK จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ไปใช้เพื่อชำระคืนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และชําระคืนตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัท พร้อมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป
“มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นกู้ของ STARK ครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งผู้ลงทุนยังมีความต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากจากสถาบันการเงินเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจที่มั่นคง และแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำด้านการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของ STARK มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการกำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพฐานทุน และผลักดันการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระยะยาว” นายประกรณ์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กล่าวเพิ่มเติมว่า STARK ยังคงสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยมุ่งมั่นพัฒนาสร้างการเติบโตต่อองค์กรอย่างยั่งยืนในอนาคตผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง มุ่งเน้นการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล แรงดันไฟฟ้าระดับปานกลางจนถึงระดับสูงพิเศษ และสายไฟสำหรับระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซลาร์เซลล์บนโครงสร้างที่ลอยน้ำ ตลอดจนการพัฒนาสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ระบบสายส่งกระแสตรงแรงดันสูง ที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อรองรับการเติบโตของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์ 2) การเพิ่มการเติบโตของรายได้ รวมถึงการขยายและเจาะตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ 3) การเพิ่มการแข่งขันในด้านต้นทุน สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการรวมคำสั่งซื้อวัตถุดิบของประเทศไทยและประเทศเวียดนามเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและลดต้นทุนของโลหะ และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้การค้า ตลอดจนนโยบายการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เพิ่มความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น 4) การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายส่วนทุน (capex) อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยกำลังการผลิตที่มีอยู่รองรับการเพิ่มขึ้นของการผลิตได้อีกเกือบ 2 เท่า และ 5) การเพิ่มความเข้มแข็งของสถานะทางการเงินของงบดุล การใช้เงินทุนหมุนเวียน ควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการร่วมกันของกลุ่มบริษัทอย่างมีระบบ (Integrated Supply Chain Management)