ประกันภัย

คปภ. ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส. นักศึกษา วปส. รุ่นที่ 10 และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ส่งมอบห้องความดันลบ ให้โรงพยาบาลหัวหิน-กุยบุรี

เลขาธิการ คปภ. ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส. นักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลหัวหินและโรงพยาบาลกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสู้ภัย COVID-19เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ร่วมกับผู้แทนสมาคมศิษย์เก่า วปส. และผู้แทนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ส่งมอบห้อง Negative Pressure เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายแพทย์ สุวิทย์  ปานดิษฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ โรงพยาบาลหัวหิน เป็นผู้รับมอบ และโรงพยาบาลกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี ทันตแพทย์ วิทยา  โปธาสินธุ์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุยบุรี เป็นผู้รับมอบ โดยมีคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ร่วมส่งมอบด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีภารกิจหน้าที่ในด้านการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีศักยภาพและเข้มแข็ง ตลอดจนคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัยให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน ได้บูรณาการร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการบริจาคเงินเพื่อช่วยจัดหาและจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 20,000 โดส ให้กับประชาชนกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง โดยได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานความร่วมมือในการจัดหาสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการฉีดวัคซีน กว่า 30 แห่ง ใน 18 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือ “ประกันภัยรวมใจมอบวัคซีนต้านโควิดสู่ประชาชน” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 จำนวน 1,030 ราย ณ โรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จังหวัดราชบุรี และต่อมาได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ครบจำนวนเป้าหมายในเดือนพฤศจิกายน 2564 กว่า 10,000 ราย เรียบร้อยแล้ว

จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนกว่า 70 รายต่อวัน ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับทราบถึงความต้องการและความจำเป็นของโรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลกุยบุรี ซึ่งขอรับการสนับสนุนในการจัดสร้างห้องความดันลบเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด–19 เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และช่วยลดการแพร่ระบาดต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำนักงาน คปภ. สมาคมศิษย์เก่า วปส. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้ใช้เงินบริจาคที่เหลือจากการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 มาใช้สนับสนุนในการสร้างห้องความดันลบที่ได้มาตรฐาน ซึ่งดำเนินการจัดสร้างโดยคุณธรรม์  เรืองวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮจินิค โซลูชั่น จำกัด โดยได้ร่วมสมทบบริจาคงบประมาณในการจัดสร้างด้วยเพื่อช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

นายแพทย์ สุวิทย์  ปานดิษฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ โรงพยาบาลหัวหิน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอขอบคุณแทนประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำนักงาน คปภ. สมาคมศิษย์เก่า วปส. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ได้ร่วมกันส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลหัวหิน ซึ่งทำให้โรงพยาบาลมีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดีด้านทันตแพทย์ วิทยา  โปธาสินธุ์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุยบุรี กล่าวขอบคุณแทนประชาชนชาวอำเภอกุยบุรีและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้มีการมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลกุยบุรี ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ห่างจากตัวจังหวัด แต่มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารับการรักษา ห้องความดันลบที่ได้รับมอบจึงทำให้โรงพยาบาลมีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สำนักงาน คปภ. ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านที่เสียสละและทำงานอย่างหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่า วปส. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินสร้างและร่วมกันส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ซึ่งมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button