พลังงาน

กมธ.พลังงาน ชูนวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon ช่วยผู้ประกอบการอุตฯ-SME ไทย

กรรมาธิการการพลังงาน” สภาฯ หนุนหม้อแปลงไฟฟ้าประหยัดพลังงาน/ลดคาร์บอน รับเรื่อง ชงให้รัฐบาล นำเงินกองทุนพลังงานทดแทนช่วยเหลือผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม และ SME ไทย ปรับเปลี่ยนหม้อแปลง หลังมหาวิทยาลัยบางมด/บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า ชี้แจงรายละเอียดการวิจัย หม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon ลดพลังงาน/ลดคาร์บอน ได้ 11.5% พร้อมแจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงนวัตกรรม ระบบบริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลืองแบบเรียลไทม์ ที่สามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานและลดคาร์บอนได้จริง

นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธานกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่  7 กรกฎาคม 2565 ผ่านมา ได้มีการพิจารณาระบบบริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลืองแบบเรียลไทม์ (Real time)  ที่ช่วยให้ประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอน (Carbon) เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นภาระหลักต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีผลต่อกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการนำหม้อแปลงไฟฟ้าที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นนวัตกรรมใหม่ให้คณะกรรมาธิการฯได้รับทราบ จึงเรียนเชิญ ผศ.ดร.ศุภกิตต์ โชติโก หัวหน้าประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยบางมด มาชี้แจ้งในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องใหม่ ที่คณะกรรมาธิการฯและประชาชน ตลอดทั้งผู้ประกอบการเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“จากข้อมูลการชี้แจงในเบื้องต้นพบว่า นวัตกรรมที่ ม.บางมด ร่วมกับ บจก.เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้าทำการศึกษาวิจัย หม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon นั้น สามารถช่วยประหยัดพลังงาน ลดคาร์บอน ได้ถึง 11.5% หากใช้ในระยะยาวตลอดอายุการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้นวัตกรรมใหม่นี้ นับว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯเองกำลังพิจารณาเพื่อเป็นอีกทางเลือกช่วยประหยัดพลังงานให้สอดรับยุคพลังงานแพงที่มีแนวโน้มขยับราคาขึ้นไม่หยุด”

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอรัฐบาลพิจารณา  โดยจะเชิญการไฟฟ้า และกองทุนพลังงานทดแทน มาปรึกษามาร่วมประชุมหารือกันอีกครั้ง ตลอดทั้งจะนำเสนอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำของเมืองไทย และ SME ทั่วประเทศ ดำเนินการของบสนับสนุนจากกองทุนพลังงานทดแทนเพื่อกู้เงินใช้เป็นทุนปรับเปลี่ยนหม้อแปลง  เพื่อหันมาใช้หม้อแปลงประหยัดพลังงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.ศุภกิตต์ โชติโก หัวหน้าประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยบางมด กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า ศึกษาวิจัยการจัดการพลังงานสิ้นเปลืองแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้ประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน (Carbon) ก็พบว่าสามารถประหยัดพลังงานได้จริง โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจำนวนรอบขดลวดหม้อแปลงเพื่อให้จ่ายระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่หรือให้อยู่ในระดับมาตรฐาน (On Load Tap Changer: OLTC) ควบคู่กับระบบสั่งการ หรือ ระบบมอเตอร์ (Motoring System) วัดแรงดันปกติโดยอัตโนมัติ หากแรงดันเกินไประบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงข้อมูล (Internet of Things for Distribution Transformers:IDT Monitoring) เพื่อวิเคราะห์สถานะของหม้อแปลง ไฟฟ้าแบบวินาทีต่อวินาที (Real-time) จะแจ้งความผิดปกติให้รู้ทันที ทำให้ช่างไฟฟ้าสามารถมองเห็นความผิดปกติเข้าไปแก้ไขได้ทันที

ขณะที่ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ  กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการพลังงานฯ ได้ศึกษานวัตกรรมใหม่แล้วน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และจากการชี้แจงของ  ผศ.ดร.ศุภกิตต์ โชติโก หัวหน้าประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยบางมด ก็ทำให้เชื่อมั่นว่าสามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานและลดคาร์บอนได้จริง อยากให้ฝ่ายรัฐบาล ตลอดทั้งในส่วนการไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ การไฟฟ้านครหลวง ช่วยนำนวัตกรรมใหม่นี้ไปนำเสนอรัฐบาลเห็นชอบในการสนับสนุนประชาชนติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันพลังงานของประเทศไทยราคาพุ่งสูงไม่หยุด

ด้าน นายพีรพันธ์ วงศ์กมลพร ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าภายในสิ้นปีนี้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เจ้าของอาคาร หมู่บ้านจัดสรร และ SME ควรหันมาพิจารณานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดคาร์บอน อย่างหม้อแปลง Low Carbon ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงถึง 11.5% ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนสินค้าของไทย นวัตกรรมไทย ให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หม้อแปลงประหยัดพลังงานเป็นทางเลือกช่วยประหยัดต้นทุน โดยผู้ประกอบการรายไหนไม่มีงบประมาณไม่เพียงพอก็สามารถกู้เงินผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงานทดแทนที่พร้อมให้งบประมาณสนับสนุน 30% ของการลงทุน คิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 2-3%  นับเป็นออกที่ดีที่สุดในยุคพลังงานแพงที่คณะกรรมาธิการฯให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button