ประกันภัย

คปภ. รุดลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ทระเบิดกลางทะเลจังหวัดชุมพร

คปภ. รุดลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ทระเบิดกลางทะเลจังหวัดชุมพร  เผยเรือสปีดโบ๊ท ทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ผู้บาดเจ็บทั้ง 20 ราย ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เลขาธิการ คปภ. เตือนช่วงหน้าฝน คลื่นลมแรง เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารจะต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารตามที่กฎหมายกำหนด


ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเรือสปีดโบ๊ท ชื่อ “ลมหลักคีรินทร์ 18” หมายเลขทะเบียน 5843-06433 เกิดอุบัติเหตุห้องเครื่องระเบิดกลางทะเล ห่างจากฝั่ง 4-5 กม. พิกัดทุ่งมะขามน้อย ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ส่งผลทำให้พนักงานบนเรือและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 ราย แบ่งเป็น พนักงานขับเรือ 2 ราย นักท่องเที่ยว 18 รายเหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดชุมพร ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยของเรือลำดังกล่าว พร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดชุมพร ว่า เรือสปีดโบ๊ท ชื่อ “ลมหลักคีรินทร์ 18” หมายเลขทะเบียน 5843-06433 เป็นของบริษัท ลมหลักคีรินทร์ ไฮสปีด เฟอร์รี่ จำกัด มีกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 9 มีนาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 9 มีนาคม2566 ให้ความคุ้มครองเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 100,000 บาท/คน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 15,000 บาท/คน สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บนั้น สำนักงาน คปภ.จังหวัดชุมพร ได้ประสานกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สาขาชุมพร ให้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน และได้ประสานโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โรงพยาบาลปากน้ำชุมพร โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหาดทรายรี รวมทั้ง ทายาท/ผู้ประสบภัย เพื่อแจ้งสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่

หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้เป็นหน้าฝน คลื่นลมแรง อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือเพื่อพานักท่องเที่ยวไปตามหมู่เกาะต่าง ๆ และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงขอรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเรือและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางเรือได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงในการประกอบกิจการและบริหารความเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเภทเรือโดยสารหรือเรือประเภทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้บรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป และเรือโดยสารนั้นจะวิ่งในเส้นทางใด ไม่ว่าจะเป็นในคลอง แม่น้ำ หรือ ทะเล จะต้องทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เนื่องจากกฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 73 (พ.ศ.2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารจะต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บจากการโดยสารเรือ โดยจะได้รับความคุ้มครอง อาทิ ในกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท และในกรณีและค่ารักษาพยาบาล ได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 15,000 บาท เป็นต้น

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัยในครั้งนี้ และแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้บาดเจ็บที่เป็นพนักงานขับเรือและผู้โดยสารจำนวน 20 ราย ดังนั้นการทำประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุกมิติ จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ความสำคัญและหันมาทำประกันภัยกันให้มากขึ้น เพราะหากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ระบบประกันภัยจะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ในส่วนของผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะก็จะต้องทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยตลอดเวลา หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button