“แตกตัวเพื่อขับเคลื่อน” นิยามใหม่ของคนกล้าคืนถิ่น
ในยุคที่คนเมืองที่ต้องเผชิญกับภาวะการมีรายได้ที่ไม่แน่นอน สวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น “การคืนถิ่น” เพื่อกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนเมืองยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นทางเลือก และทางรอดที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับ นางจิราพร ทองใหม่ (พี่พอลล่า) ที่เลือกจากลาออกจากการเป็นข้าราชการ กลับมาทำอาชีพเกษตรในไร่เคียงตะวัน อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุงเมื่อปี 2560
“ตอนนั้นตัดสินใจกลับมาดูแลแม่ซึ่งป่วยที่บ้าน โดยมีเงินเก็บก่อนเกษียณอายุราชการ ประกอบกับลูกเรียนจบแล้วก็เลยกลับมา และตั้งใจจะทำอย่างที่พ่อแม่เคยทำมาที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กนั่นคือการเป็นเกษตรกร เพียงแต่โจทย์ของเราคืออยากทำเกษตรแบบผสมผสานแบบเกษตรอินทรีย์ จึงได้เข้าร่วมมอบรมในหลักสูตรคนกล้าคืนถิ่น ของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เมื่อปี 2558 และนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้กับสวนของตนเอง จนปัจจุบันมีรายได้จากพืชหลากชนิด”
ปัจจุบันไร่เคียงตะวัน นอกจากเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีลูกค้าประจำทั้งในกระบี่ พัทลุงและจังหวัดข้างเคียงแล้ว ยังเป็นสถานที่อบรมอาชีพเชิงเกษตรกรรม และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย เพราะนั้น คือความตั้งใจของพี่พอลล่า ที่ต้องการถ่ายทอดแนวคิดของการทำการเกษตรผสมผสาน ให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจ
“คุณค่าจริงๆ ที่พี่ได้จากหลักสูตรคนกล้าคืนถิ่น นอกจากจะทำให้ตัวเองมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักว่าตัวเองชอบอะไรแล้วเริ่มจากสิ่งนั้น เช่น บริบทพื้นที่ จากสิ่งที่อยู่รอบๆตัว และที่สำคัญอย่าด้อยค่าตัวเอง ต้องมั่นใจในศักยภาพที่เรามี แล้วลงมือ ทำ จะทำให้เราสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้แล้ว อีกส่วนที่สำคัญมากคือ การได้เพื่อนทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและต่างภูมิภาค ที่มีเป้าหมายร่วมกันที่จะใช้ศักยภาพของตัวเองมาเป็นพลังในการขยายเครือข่ายของผู้มีแนวคิดการทำเกษตรแบบยั่งยืน ไปสู่เกษตรกรและผู้สนใจรายอื่นๆ โดยทุกครั้งที่จัดกิจกรรมอบรม ก็จะมีเพื่อนในเครือข่ายมาช่วยอยู่เสมอ”
และจากเจตจำนงค์ดังกล่าว ทำให้ คุณพอลล่า รวมถึงคนกล้าคืนถิ่น และจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศรวม 25 ท่าน ได้รับได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ให้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรและท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของ แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP)
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวว่า กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรและท้องถิ่น คือการคือการนำรูปแบบที่ทำให้คนกล้าคืนถิ่นและเกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการอื่นๆ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสร้างผลกระทบต่อชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่ของตนเอง ที่ค้นพบจากการทำงานภายใต้ทุนของ SIP4.0 ในปีแรก (โครงการการศึกษาแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก สังคมและสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาโครงการคนกล้าคืนถิ่น เกษตรกรรุ่นใหม่ และทายาทเกษตรกรมืออาชีพ) มาพัฒนาเป็น แพลทฟอร์มฟอร์มในการวางแผนการทำการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสและลดความเสี่ยงของการเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ
“การทำโครงการกับ SIP 4.0 ในปีแรก นอกจากเราจะพบว่า 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้อบรมคนกล้าคืนถิ่น สามารถเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่อยู่รอดได้แล้ว ยังสามารถเป็น change Agent สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนเองได้ ดังนั้นในโครงการปีนี้ จึงเป็นจึงเป็นการออกแบบเครื่องมือ สำหรับการจัดกิจกรรมขยายเครือข่ายของ Change Agent พร้อมไปกับการสร้างเครื่องมือเพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่มีความเข้มแข็งมากขึ้ น”
และตลอด 1 ปีของการดำเนินโครงการ คณะทำงานได้มีการสร้างเครื่องมือ เพื่อต่อยอดขยายผลของคนที่กลับไปในถิ่นฐานตัวเอง และเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนและสร้างแรงบันดาลใจกับผู้สนใจในระดับพื้นที่ รวม 2 ชุดคือ แพลทฟอร์มการสร้างทีมกระบวนการ ที่เป็นการออกแบบและจัดกระบวนการทำงานให้ change Agent ไปสร้างการการขยายผลหรือเรียกว่าการแตกตัว ในพื้นที่ของตนเอง และ แพลตฟอร์มการออกแบบและบริหารพื้นที่ หรือ Get Start and Farm Planning ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตรได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ชื่อ “กล้าดี”
“ประเทศไทยไม่ได้ขาดเกษตรกร แต่เราขาด ‘ผู้ประกอบการภาคเกษตร’ ซึ่ง “กล้าดี” จะเป็นแพลทฟอร์มที่จะช่วยให้เขาได้เข้าใจว่าการการเป็นผู้ประกอบการที่ดี จะต้องวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเป็น(Business strategy) นอกจากรู้ว่าตัวเองเก่งหรือผลิตอะไรได้ดีแล้ว ยังต้องรู้ว่าผลิตภัณฑ์อะไรขายได้ราคาหรือเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงมีพื้นฐานในการสร้างแบรนด์และการตลาดเพื่อสามารถสื่อสารผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”
ดร.สุมิท กล่าวว่า ทั้งแพลทฟอร์มและเครื่องมือให้ทีมกระบวนการ นำไปใช้ในการสร้าง Change Agent รวมถึง แพลทฟอร์มของการยกระดับจากตัวเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการภาคเกษตร ที่ได้จากโครงการนี้ คือคำตอบที่สำคัญของการปฏิวัติวงการเกษตรกรรมไทย
“การจะทำให้ภาคเกษตรกรรม กลายเป็นอาชีพที่ทำแล้วไม่เป็นหนี้ เลี้ยงตัวได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องมีทำให้เกิด ‘ผู้ประกอบการภาคเกษตร’ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศ ซึ่งหากโครงการนี้ได้รับการนำไปขยายผลในเชิงปฏิบัติ มีการสนับสนุนการสร้าง Chang Agent พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแตกตัวของผู้ผ่านการอบรมจาก Chang Agent ในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่นเดียวกับกรณีของคุณจิราพร (พี่พอลล่า) ก็จะสามารถสู่เป้าหมายนี้ได้อย่างแน่นอน”