PTT–OR–TOYOTA–BIG ผนึกกำลังเสริมแกร่ง Future Energy เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์แห่งแรกของไทย
• จับมือเดินหน้าสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมรองรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) อนาคตใหม่ของการเดินทาง
• เติมเต็มความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศยานยนต์แห่งอนาคต มอบประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ ด้วยรถยนต์ โตโยต้า มิไร (Toyota Mirai) รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) ให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี
• ตอบรับแผนภาครัฐ สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) และ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของ 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้พลังงานในการเดินทางและการขนส่งในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และหนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องการพลังงานชนิดใดสำหรับการเดินทาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2030 ของ โออาร์ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไปอีกด้วย
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) เปิดเผยว่า บีไอจีตั้งเป้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) ด้วยนวัตกรรมไฮโดรเจนซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลกในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในครั้งนี้ บีไอจีจึงได้ร่วมกับ 5 พันธมิตรในการนำนวัตกรรมจากก๊าซไฮโดรเจนมาใช้จริงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนเข้าสู่ยานยนต์แห่งแรกของประเทศไทย โดยไฮโดรเจนจากบีไอจีเป็นพลังงานสะอาดและมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้บีไอจียังมีแผนพัฒนาไฮโดรเจนทั้งในแบบคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอน ร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศในอนาคต โดยบีไอจีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮโดรเจนมาจากแอร์โปรดักส์ (บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอนอันดับหนึ่งของโลก จึงมั่นใจได้ทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่าง ๆ นอกจากนี้บีไอจียังมุ่งเน้นสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการกระจายความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับไฮโดรเจนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์การเป็นผู้นำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนของประเทศไทย การนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคยานยนต์ในครั้งนี้ถือความก้าวที่สำคัญที่ช่วยประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions
นายปาซานา กาเนซ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่มีต่อความเป็นกลางทางคาร์บอน เราเป็นหนึ่งในบริษัทที่ริเริ่มในการกำหนดเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (2593) ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย (multiple pathways) ของเรา โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีสะอาดที่แตกต่างกันเพื่อทำให้การลดคาร์บอนสามารถทำได้ในปริมาณมากและเร็วขึ้น โดยเราจะดำเนินตามพันธกิจของเราในการลดคาร์บอนตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ เราเห็นศักยภาพที่ดีในไฮโดรเจนจากการใช้งานและประโยชน์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดเก็บ การขนส่งไปจนถึงการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ โตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) Mirai ซึ่งหมายถึงอนาคต ในปี 2557และรุ่นที่ 2 ในปี 2564 วิสัยทัศน์ของโตโยต้าต่อสังคมปลอดคาร์บอนและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนย้ายที่ปราศจากคาร์บอนสำหรับทุกคน จะเป็นความจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดรวมตัวและร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน และเนื่องจากผมเป็นหนึ่งในสองสมาชิกผู้ก่อตั้ง Hydrogen Council ในปี 2559 ผมมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาสู่ความเป็นจริงในการขับเคลื่อนในชีวิตประจำวัน และอยากจะส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับไฮโดรเจน
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) กล่าวว่า โตโยต้ามีความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยมีกลยุทธหลักว่าด้วยการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ในหลากหลายแนวทาง หรือ Multi Pathway เพื่อนำเสนอทางเลือกในการเดินทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ด้วยยานยนต์หลากหลายระบบขับเคลื่อน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการตอบสนองการขับเคลื่อนของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้เทคโนโลยียานยนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ถูกนำไปใช้งานได้จริง เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมกับประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการ ”การจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ Decarbonized Sustainable City” โดยมีรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โตโยต้า มิไร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองนี้ เนื่องจากเป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนอันเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น โตโยต้ามิอาจบรรลุพันธกิจดังกล่าวได้เพียงลำพัง แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ดังเช่น โครงการความร่วมมือฯ อันนำมาซึ่งกิจกรรมการเปิดสถานีไฮโดรเจนแห่งแรกในเมืองไทยในวันนี้ ผมหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มแผนยุทธศาสตร์ Multi Pathway ของเรา ตลอดจนเป็นการร่วมเติมเต็มวิสัยทัศน์ของประเทศในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป