นิปปอนเพนต์ เผยโฉมสองผู้ชนะเลิศเวทีนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ Asia Young Designer Awards Thailand 2022
บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลสองผู้ชนะการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในระดับมหาวิทยาลัย โครงการ Asia Young Designer Awards Thailand 2022 หรือ AYDA 2022 โดยปีนี้ ชานนท์ บุปผเวส หรือนนท์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงาน “FOUR FOR REST” และกุลนิษฐ์ พัฒนวิทยกุล หรือแกงส้ม นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบภายใน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน “มรณะศึกษา” ชนะใจกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner ในสาขาสถาปัตยกรรม และสาขาออกแบบตกแต่งภายใน รับรางวัลเงินสดมูลค่า 100,000 บาท และโปรแกรมออกแบบ SketchUp Studio Education Software 2022 เป็นเวลา 1 ปี กลับบ้านไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยสองผู้ชนะจากประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมมุ่งสู่การแข่งขัน Asia Young Designer Summit 2023 ณ ประเทศเวียดนาม ร่วมกับผู้ชนะจากอีก 16 ประเทศทั่วเอเชีย เพื่อชิงโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านการออกแบบอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
การแข่งขันในปีนี้มาพร้อมโจทย์การประกวดในหัวข้อ “Converge, Pushing the Reset Button” หรือ “การรวมกันเป็นหนึ่ง : กดปุ่มเริ่มต้นใหม่” อันเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่ง นนท์
และ แกงส้ม ต่างก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผ่านกระบวนการคิด และเดินหน้าทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างลึกซึ้ง ดึงความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาของผู้ใช้งาน มานำเสนอเป็นโซลูชันงานออกแบบที่ผสานทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน ตรงตามคอนเซ็ปต์การแข่งขัน ผสมผสานความหลากหลายของชีวิต และทำให้ผลงานการออกแบบมีชีวิตชีวา โดยทั้งสองยังมองว่าการออกแบบที่ดีจะสามารถส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นความสมดุลที่ช่วยให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยผลงาน “FOUR FOR REST” ของนนท์ ได้รับแรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ย่านตลาดน้อยกับอาจารย์
ที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งนนท์สังเกตเห็นความแตกต่างของเส้นทางเดินเรือบนคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งย่านตลาดน้อยแห่งนี้เป็นคลองเส้นทางเดียวที่ถูกปิด ไม่มีเรือสัญจร จึงคิดอยากปรับปรุงพื้นที่นี้ให้แก่ผู้คนในชุมชน ถึงแม้จะไม่ใช่คนในพื้นที่โดยกำเนิด แต่ก็มีความผูกพันกับย่านนี้ จากการมาเรียนพิเศษตลอดระยะเวลา 2 ปี จึงเกิดความคิดอยากแปลงโฉมชุมชนคลองแออัดให้เป็นสวนสาธารณะ ให้คนในชุมชนได้ออกกำลังกายใกล้บ้าน ผ่านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม “FOUR FOR REST” ที่ขับจุดเด่นของย่านตลาดน้อยกับบรรยากาศต้นไม้ร่มรื่นริมฝั่งคลอง รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของผู้คนในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมคลองตลาดน้อยโฉมใหม่ ให้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงสถานที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น
ชานนท์ บุปผเวส หรือนนท์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ชนะ Gold Winner Architectural กล่าวว่า “จากการเดินทางไปยังชุมชนย่านตลาดน้อยและได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ตลอดจนปัญหาของพื้นที่ที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นที่มาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม “FOUR FOR REST” โดยตั้งแต่เข้ามาเรียนคณะสถาปัตยกรรม ผมตั้งใจมาตลอดที่จะสร้างสรรค์งานออกแบบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการใช้สอยพื้นที่สาธารณะร่วมกันของชุมชนในละแวกนี้ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ถ่ายทอดความเชื่อของตัวเองลงบนผลงานชิ้นนี้ ที่สร้างประโยชน์และตอบโจทย์
ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง ผมต้องขอขอบคุณเวทีการประกวด AYDA ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่อย่างผมได้มีพื้นที่แสดงออก และสานฝันหลักการออกแบบให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมอบโอกาสมากมายที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกด้วย”
ด้านผลงาน “มรณะศึกษา” ของแกงส้ม มีจุดเริ่มต้นจากความเสียใจจากการสูญเสียผู้คนรอบตัวอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือสัตว์เลี้ยง นำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหา จนกระทั่งพบทฤษฎี Five Stages of Grief ซึ่งเป็นทฤษฎี 5 ระยะของความรู้สึก
จึงอยากสร้างพื้นที่เยียวยาจิตใจให้แก่ผู้คน โดยใช้สีและวัสดุเข้ามามีส่วนในการเยียวยาจิตใจ เช่น สีเขียวใช้กับผู้คน
ในระยะปฏิเสธ ระยะโกรธ ใช้สีขาวเทาที่มืดลงสำหรับระยะต่อรอง และระยะซึมเศร้า เพื่อผลักดันให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้นด้วยสีอบอุ่นและวัสดุจากไม้ นำไปสู่ผลลัพธ์ของระยะยอมรับ และเตรียมพร้อมต่อความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การวางแผนรับมือกับการพลัดพรากจากลา โดยเฉพาะการหมดอายุขัยตามกฎของธรรมชาติ ทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหากผ่านระยะยอมรับนี้มาได้ ก็จะไม่ส่งต่อพลังลบไปยังคนรอบข้าง ทั้งยังสามารถแยกแยะความรู้สึกได้
อันเป็นการเตรียมพร้อมอย่างมีสติและไม่ประมาท
กุลนิษฐ์ พัฒนวิทยกุล หรือแกงส้ม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ชนะ Gold Winner Interior Design กล่าวว่า “ดีใจที่ได้ร่วมแข่งขันในโครงการนี้ และได้แบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความผูกพันกับผู้คนรอบตัวผ่านผลงานการออกแบบ “มรณะศึกษา” โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่อยู่ด้วยกันมายาวนานอย่างไม่ทันตั้งตัว ดิฉันสามารถก้าวข้ามความเสียใจจากการพลัดพรากดังกล่าว ผ่านการศึกษาทฤษฎี Five Stages of Grief
โดยมีคนรับฟังในสิ่งที่ดิฉันต้องการนำเสนอ ดิฉันสนุกกับการได้ปรับปรุงผลงานตามคำแนะนำของคณะกรรมการ การได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ เรียกได้ว่าเกินฝันไปมาก ต้องขอขอบคุณ AYDA ที่ให้โอกาสดิฉัน รับรองว่าจะตั้งใจและพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าแข่งขันในรอบการประกวดนานาชาติอย่างแน่นอน”
นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า
“ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ดำเนินโครงการ Asia Young Designer Awards นิปปอนเพนต์ได้บ่มเพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ให้แก่วงการนักออกแบบมากมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงปัญหาของมนุษย์เป็นหลัก และการสร้างประโยชน์
อย่างยั่งยืนให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสีที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้าทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นิปปอนเพนต์มั่นใจว่าทั้งนนท์ และแกงส้ม รวมไปถึงนักออกแบบทุกท่านที่เข้าร่วมการประกวด AYDA 2022 จะเติบโตและก้าวไปเป็น
นักออกแบบรุ่นใหม่ที่แสดงความสามารถอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร้ขีดจำกัด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการออกแบบของไทยและในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน”