กรมท่าอากาศยาน ครบรอบ 89 ปี เดินหน้าศึกษาการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน
กรมท่าอากาศยาน ครบรอบ 89 ปี เดินหน้าศึกษาการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน พร้อมก้าวสู่ปีที่ 90 ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อสร้างความสุขในการเดินทางและการขนส่งทางอากาศที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมท่าอากาศยาน ครบรอบ 89 ปี โดยได้กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งให้มีความครอบคลุมทุกมิติการเดินทาง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน กระทรวงคมนาคมได้รับนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย พัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่ทั้งหมด 29 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโครงข่ายการบินและเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวในภาพรวม กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการ การอำนวยความสะดวก การสร้างความมั่นใจในการเดินทางของประชาชน ตลอดจนการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด และนำพาให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดหมายสำคัญในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทย. ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในการกำกับดูแล ทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคสู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ การริเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO เพื่อรองรับอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve ของประเทศไทย การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งสินค้าในภูมิภาค และการบูรณาการท่าอากาศยานส่วนภูมิภาคร่วมกับแผนแม่บท MR-MAP เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ล้อ ราง อากาศ อย่างสมบูรณ์
สำหรับก้าวต่อไปของ ทย. คือ การยกระดับไปสู่องค์กรที่มีความทันสมัย เทียบเท่าท่าอากาศยานขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบการบิน รวมถึงการพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านการบินให้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้เทียบเท่าระดับสากลต่อไป