เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยฟื้นชัด คาดไตรมาส 4 โตกว่า 4%

เศรษฐกิจไทยฟื้นชัด คาดไตรมาสสี่โตกว่า 4% เงินเฟ้อชะลอลง การเงินอาจเข้มงวดขึ้น บาทแข็งค่าทดสอบ 34 บาทต่อดอลลาร์ปลายปี ปรับมุมมองการลงทุนใหม่

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่มีแนวโน้มขยายตัวแบบเร่งตัวขึ้นแม้นฐานตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสสี่ปี 64 สูงขึ้นโดยมีการขยายตัวที่ระดับ 1.8% YoY เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสสี่น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น (ไตรมาสเทียบไตรมาส QoQ) จากไตรมาสสามซึ่งมีอัตราขยายตัวสูงถึง 4.5% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปี 64 ซึ่งอัตราการขยายตัวติดลบ มีความเป็นไปได้ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่น่าจะเกือบ 4% หรือสูงกว่า 4% เล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปีของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2565 อาจจะอยู่ที่ 3.3-3.4% สูงกว่าที่สภาพัฒน์ประเมินไว้ล่าสุด

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่ไม่ได้มีเฉพาะภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเท่านั้น ภาคการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของเอกชน ภาคการลงทุนของเอกชนก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยในการอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน (Private final Consumption Expenditure) ขยายตัวสูงถึง 9% ในไตรมาสสาม การลงทุนที่เป็น Gross fixed capital formation ขยายตัวเพิ่ม 5.2% การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่น่าจะมากกว่า 4% รายได้ภาคการท่องเที่ยวเคยมีสัดส่วนสูงถึง 11-12% ของจีดีพีไทย หากประเทศไทยทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับคืนมาได้มากกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวปี 2562 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นฐานของการเติบโตในปีหน้า การดำเนินนโยบายอาจเข้มงวดขึ้นหากมีสัญญาณของเงินเฟ้อจากอุปสงค์เร่งตัวมากขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกชะลอตัวลง แรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานและราคาพลังงานลดลงอย่างชัดเจน
อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทแข็งค่าขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในสองเดือนสุดท้ายและการพุ่งขึ้นของรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติทำให้เงินบาททดสอบ 34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีได้ นอกจากนี้ไทยได้รับอานิสงส์การขยายตัวที่ค่อนข้างดีของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย สัดส่วนธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น อินเดีย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่คิดเป็นสัดส่วน 75% ของตลาด Emerging Market นั้นมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เงินออมของกลุ่มคนที่ไม่ว่างงานระหว่างการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยช่วยลดทอนผลกระทบจากการทะยอยดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลกของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับ ปัญหาความตึงเครียดทางการทหารและการเมืองบริเวณช่องแคบไต้หวันคลี่คลายลง การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีนจึงเป็นโอกาสการลงทุนในระยะยาว เอาเฉพาะประชากรชนชั้นกลางของจีนเวลานี้ก็เท่ากับประชากรของสหรัฐอเมริกา หากจีนสามารถเพิ่ม GDP ได้อีกสองเท่าในปี ค.ศ. 2035 จะทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์ อยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว จีนจะยังมีฐานของประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อที่ใหญ่มาก ฉะนั้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคการลงทุนและจีดีพีของจีนยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในระยะยาว แม้นปีนี้และปีหน้า จีดีพีของจีนจะขยายตัวเพียง 5.4-5.5% ก็ตาม

ดร. อนุสรณ์ ประเมินว่า พลวัตของตัวแปรทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงไปของตัวแปรทางการเงินและการลงทุน จำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนใหม่ ในไตรมาสสี่ โดยมีความเห็นว่า กลุ่มตราสารหนี้ควรเลือกการลงทุนอายุการถือครองระยะสั้น หรือ Duration สั้นๆ และเน้นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในประเทศที่มีฐานะการคลังมั่นคงและภาคเอกชนไม่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินไป รวมทั้ง Green Bond ทั้งหลาย ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นควรให้น้ำหนักหุ้นกลุ่ม Value มากกว่า กลุ่ม Growth การฟื้นตัวของตลาดทุนจากวิกฤติเศรษฐกิจ Covid-19 ฟื้นตัวในอัตราเร่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินเมื่อปี ค.ศ. 2008 ควรขยายขอบเขตการลงทุนเพื่อผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแทนที่จะถือเงินสด วางพอร์ตการลงทุนให้กระจายตัว กระจายสัดส่วนการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสูงไปพร้อมกัน บริหารความเสี่ยงให้สมดุล เลือกลงทุนหุ้นกลุ่มที่ราคายังไม่ตึงตัวมาก เน้นการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเพื่อสามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้รวดเร็วตามความผันผวนของตลาด
นโยบาย Net Zero Carbon ของหลายประเทศทำให้การลงทุนในกลุ่มพลังงานที่มีแนวทางชัดเจนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Net Zero Carbon ต้องการการลงทุนเพิ่มเติมมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีไปอีกไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษจึงจะทำให้ พลังงานหมุนเวียนมาแทนที่พลังงานในรูปแบบเดิมได้ นั่นหมายความว่า พลังงานในรูปแบบเดิมจะอยู่กับเราในระยะเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมีความสำคัญเข้ามาแทนที่ ถ่านหิน มากขึ้นตามลำดับ การขาดแคลนชิปและวัตถุดิบบางอย่างจาก Supply Shortage จากปัญหาโลจีสติกส์ สงครามยูเครนและสงครามการค้าลดลง ทำให้ การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ สินค้าไฮเทคและอุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button