ถึงคิว ”กระเทียมปาย” สุดยอดกระเทียมไทยใช้ ”อมก๋อย โมเดล” กระจายของดีแม่ฮ่องสอน
สำเร็จเกินคาดสำหรับยุทธการซื้อพืช 3 หัวในราคานำตลาด ประกอบด้วย” หอมหัวใหญ่ หอมแดงและกระเทียม”ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้า ภายในร่วมกับผู้ประกอบการ 16 รายเข้ารับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูก ตามนโยบาย”ตลาดนำการผลิต”ของรัฐบาล ผ่านแนวคิด”อมก๋อยโมเดล”ที่ริเริ่มโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หลังคิกออฟ”หอมหัวใหญ่”ที่เชียงใหม่เมื่อ 27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุดถึงคิว”กระเทียม”แม่ฮ่องสอน ในสัปดาห์นี้ที่ผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อถึงแหล่งปลูก
จากการคาดการณ์ของสำนักงานแศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ระบุว่าผลผลิตกระเทียม ในฤดูการผลิตปีนี้(2566)อยู่ที่ 64,891 ตัน พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอยู่ที่ 61,563 ไร่ แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ โดยมีจ.เชียงใหม่ ให้ผลผลิตมากที่สุด 25,556 ตัน รองลงมาแม่ฮ่องสอน 20,837 ตัน ลำพูน 1,925 ตัน และพื้นที่อื่น ๆ อีก 16,573 ตัน
กล่าวสำหรับกระเทียมแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อว่าสุดยอดกระเทียมไทย มีลักษณะสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน ที่สำคัญยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง ที่เรียกว่า”อัลลิซิน”สูงกว่าที่อื่น โดยมีแหล่งปลูกหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง ปายและขุนยวม
กรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการจัดการพืช 3 หัวปี 2566 ตามนโยบายตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาลผ่านแนวคิด อมก๋อย โมเดล หลังคิกออฟเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566ที่ผ่านมา ณ สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่โดยมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน จากนั้นได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยนำผู้ประกอบการจำนวน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม 8 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป 4 รายและตลาดกลาง 4 ราย ได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกในราคานำตลาดในช่วงต้นฤดูการผลิตเพื่อกระจายสู่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่ง รวม 1,318 สาขา ตลอดจนร้านธงฟ้าอีก 1 หมื่นร้านค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน
“ปัญหากระเทียมในอดีต เกษตรกรปลูกแล้วไม่รู้ไปขายที่ไหน จะเก็บก็กลัวขายไม่ได้ขายสดก็ถูกกดราคา กรมก็ได้ร่วมกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อล่วงหน้าในราคานำตลาด เมื่อสดหมดเขาก็จะเก็บแห้งไว้ขายต่อ”
รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผยต่อว่าสำหรับพืชหัวอย่างกระเทียมนั้นปี 2566 นี้กรมมีเป้าหมายซื้อล่วงหน้าพร้อมทำสัญญาในราคานำตลาดจำนวน 64,891 ตัน จากแหล่งปลูกสำคัญใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและลำพูน โดยช่วงสัปดาห์นี้จะมุ่งเป้าไปที่จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากผลผลิตกระเทียมเริ่มออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น
“แหล่งผลิตสำคัญกลุ่มใหญ่อยู่ที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เฉพาะแม่ฮ่องสอนกระเทียม รวมแล้ว 3,700 ตัน เชียงใหม่ 3,000 ตัน ลำพูน 1,300 ตัน เราดูดซับออกมาสองพันตันหรือยี่สิบเปอร์เซ็นต์ในราคานำตลาด ทำให้กระแสความต้องการมากขึ้น ตลาดคึกคักขึ้น อย่างที่ปายตอนนี้เริ่มแล้ว ผู้ประกอบการที่เราเชื่อมโยงมา เข้ารับซื้อในราคายี่สิบบาท เมื่อก่อนไม่มีใครมาซื้อตั้งแต่ต้นฤดู รอก่อน ๆ ให้มันออกชุกแล้วค่อยกดราคา เกษตรกรจะเก็บก็เก็บไปไม่รู้อนาคต ตอนนี้เก็บปุ๊บมีคนมาแย่งซื้อปั๊บ”นายกรนิจกล่าวถึงมาตรการเชิงรุกจัดการพืชกระเทียม แม่ฮ่องสอน
ขณะที่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ใน 16 รายที่ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายในเข้าไปรับซื้อกระเทียมถึงแหล่งปลูกเผยสถานการณ์กระเทียมในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนในขณะนี้ โดยเฉพาะอ.ปายเริ่มให้ผลผลิตก่อนอำเภออื่น โดยกล่าวยอมรับว่า
“ตอนนี้พวกคนกลางตื่นตัวกันมาก โทรหากันวุ่นว่าขายที่ไหน ขายให้ใคร เขาจะเก็บมาขายบ้าง ส่วนเราจะไม่รับซื้อจากคนกลาง แต่จะซื้อจากเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น ตอนนี้ข่าวกระฉ่อนไปทั่วทั้งอ.ปายแล้ว”
ผู้ประกอบการรายเดิมยอมรับว่าคุณภาพกระเทียมแม่ฮ่องสอนปีนี้ดีมาก ขณะนี้ทุกพื้นที่เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว โดยเริ่มที่อ.ปายจากนั้นก็จะทยอยรับซื้อไปเรื่อย ๆ ทั้งในพื้นที่อ.ปายและอำเภออื่น ๆ ซึ่งราคาปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามกระเทียมแม่ฮ่งอสอนขณะนี้ยังอยู่ในช่วงต้นฤดู ซึ่งจะออกชุกราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ด้าน นันทนา พรมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เมืองแปง อ.ปายในฐานะประธานแปลงใหญ่กระเทียมอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนกล่าวรู้สึกดีใจที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ส่งผลทำให้ราคากระเทียมปีนี้ค่อนข้างดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา
“ปีที่แล้วเกษตรกรพอขายได้ แต่ปีนี้พาณิชย์ช่วยพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่าราคาตลาด ตอนนี้กระเทียมสดเขารับซื้ออยู่ที่ยี่สิบกว่าบาท แต่เป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตยังออกมาไม่เยอะ ต้องรอดูช่วงมีนากระเทียมจะออกมาเยอะว่าราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่”
ประธานแปลงใหญ่กระเทียมปายกล่าวถึงจุดเด่นกระเทียมแม่ฮ่องสอนว่าถือเป็นสุดยอดของกระเทียมไทยต่างจากที่อื่น มีสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน และจากการวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าปัญหาพืชกระเทียมปายในปัจจุบัน นอกจากพื้นที่ปลูกลดลงทุกปีประมาณ 20% เป็นผลมาจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาตลอดจนค่าพันธุ์แล้ว ยังมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางมาลงทุนให้กับเกษตรกร พร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าด้วย
“พาณิชย์พยุงราคาถือว่าดี แต่ก็มาปลายฤดู บางทีทำอะไรไม่ได้ เพราะมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อ พ่อค้าคนกลางลงทุนให้เมื่อถึงเวลาขายเขาก็ต้องขายให้กับพ่อค้าอยู่ดี เพราะเกษตรกรไม่มีเงินลงทุนเอง พ่อค้าลงทุนให้ก่อนแล้วค่อยหักลบจบหนี้ตอนขายผลผลิต นี่คือปัญหาหลัก วิธีแก้รัฐต้องหาแหล่งทุนหรือพาณิชย์ต้องหาบริษัทเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น พูดง่าย ๆ บริษัทเข้ามาตอนถอน ถ้าบริษัทมาดูแต่ตั้งแต่ตอนแรกชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่ก็ยังดีที่มาตอนถอน”
ประธานแปลงใหญ่กระเทียมอ.ปายสะท้อนปัญหาให้ฟัง พร้อมกล่าวเชิญชวนประชาชนคนไทยอุดหนุนกระเทียมไทย โดยร่วมใจกันซื้อครอบครัวละ 1-2 กิโลกรัมเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม เนื่องจากพืชกระเทียมสามารถเก็บไว้ได้นานต่างจากพืชหัวอื่นหรือไม้ผล