ประกันภัย

อุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 2566 พุ่ง 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย สาเหตุหลัก “ขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ” บริษัท กลางฯ ช่วยเหลือเยียวยาทันที

เผยยอดอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 2566 รวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน สาเหตุหลัก “ขับรถเร็วเกินกำหนด-ดื่มแล้วขับ” บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกับบริษัทประกันภัย ช่วยเหลือเยียวยาทันทีภายใน 24 ชั่วโมง เผยรถมีประกันภัย พ.ร.บ.รวมจำนวน 141 ราย และรถที่ไม่พบการมีประกันภัย พ.ร.บ.อีกจำนวน 123 ราย

ตามที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ได้สรุปสถิติยอดรวมอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ตลอด 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 มีการเกิดอุบัติเหตุ รวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด และดื่มแล้วขับ และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

สำหรับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ พบว่ามีผู้เสียชีวิตและรถมีประกันภัย พ.ร.บ.รวมจำนวน 141 ราย และเสียชีวิตจากรถที่ไม่พบการมีประกันภัย พ.ร.บ.อีกจำนวน 123 ราย

บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกับบริษัทประกันภัย ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต ด้วยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 24 ชั่วโมง ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตเพื่อช่วยเหลือเยียวยาทันที จำนวน 89 ราย และจะดำเนินการเยียวยาให้ครบทุกคน สำหรับผู้ประสบภัยจากรถที่มีการทำประกันภัย พ.ร.บ.  เบื้องต้น (ยังไม่พิสูจน์ความรับผิด) จ่ายเป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท ต่อคน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ทายาทและครอบครัวผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน

และหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดแล้ว บริษัทกลางฯ และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น) ในจำนวนเงิน ดังนี้

กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน

กรณีเสียชีวิต คุ้มครอง 500,000 บาทต่อคน

กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ คุ้มครองตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาทต่อคน แล้วแต่กรณี

และกรณีเป็นผู้ป่วยใน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าชดเชยวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน

สำหรับผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้เพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทที่รับประกันภัยรถของตนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายถูก มีสิทธิไปเรียกร้องเอาจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

สำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถคันที่ไม่มีการทำประกัน พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจะต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ขับขี่ที่ทำละเมิดเองซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบให้กับผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด

หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ถ้ารถคันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยก็จะได้รับการเยียวยาทุกคนโดยทันที แต่หากรถคันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. และผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด ผู้ประสบภัยจากรถจะเสียสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เหมือนเป็นการซ้ำเติมกับผู้ประสบภัยจากรถ เพราะต้องไปใช้สิทธิตามกฎหมายติดตามค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดเอง หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประสบภัยจากรถ ไม่สามารถจะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดได้ ทำให้ผู้ประสบภัยจากรถ เสียสิทธิไปเป็นจำนวนมาก ค่ารักษาพยาบาลก็ต้องจ่ายเองไม่สามารถเรียกคืนจากผู้กระทำผิดได้ ค่าสินไหมทดแทน กรณีเสียชีวิตซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ 500,000 บาทต่อรายก็ไม่สามารถได้เงินเยียวยาในส่วนนี้

ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของรถทุกคันจะต้องไม่ลืมจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพราะเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ใช้รถทุกคนจะต้องทำเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นหลักประกันหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้ประสบภัยจากรถทุกคนจะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยผู้ประสบภัยสามารถติดต่อใช้สิทธิได้ที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถของตนเองหรือที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่มีสาขาให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามการใช้สิทธิตามประกันภัย พ.ร.บ.ได้ที่ Call Center บริษัทกลางฯ โทร.1791 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ไลน์ @iRVP

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button