พลังงาน

ผ่าทางตัน “ค่าไฟแพง” ปฏิรูป-ปรับโครงสร้าง-เปลี่ยนสัญญาสัมปทาน” ยื่นรัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าทันที 3.50-4 บาทต่อหน่วย

ผ่านทางตันค่าไฟแพง ชงแนวทาง 3 ป “ปฏิรูป-ปรับโครงสร้าง-เปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน”  ยื่นรัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าลดทันที 3.50-4 บาทต่อหน่วย พร้อมข้อเสนอ 13 ข้อแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าและพลังงานทั้งระบบไม่ผลักภาระ กฟผ. และสร้างภาระงบประมาณ แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าระยะสั้น แก้สัมปทาน ปลดล็อคความไม่เป็นธรรม หยุดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจบนความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจการผลิต

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระ หรือสร้างภาระงบประมาณเพิ่มนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น และ ไม่ได้แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แต่สร้างความไม่เป็นธรรมเพิ่มเติมต่อประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคต เกิดความไม่โปร่งใสในการจัดการกิจการไฟฟ้าทั้งระบบจากการกำหนดนโยบายที่มีลักษณะเป็น การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ จากความร่วมมือของผู้มีอำนาจรัฐ กับกลุ่มทุนกิจการไฟฟ้ารายใหญ่ บนภาระของประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ไทยจึงเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในอาเซียน ประชาชนและภาคการผลิต ภาคบริการทั้งระบบประสบปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งเกิดจากการวางแผนที่ไม่ตระหนักว่าประชาชนและภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบ

ระบบฐานคิดการบริหารกิจการพลังงานและไฟฟ้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นการส่งผ่านให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ จึงขาดความกระตือรือร้นหรือดำเนินการเชิงรุกด้วยแนวทาง 3 ป คือ ปฏิรูป ปรับโครงสร้าง ปรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม

คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้างวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. อีกครั้ง และลดค่าไฟฟ้าลงมาเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เป็นการผลักภาระให้ กฟผ. ซึ่งในที่สุดหนีไม่พ้นเอาเงินสาธารณะมาชดเชย แทนที่จะใช้วิธีแก้ไขสัมปทานการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนกิจการไฟฟ้าขนาดใหญ่มากเกินไป

การที่ กฟผ. เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด หรือ 20 เดือน งวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน งวดละ 22,000 ล้านบาทจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค. 66) ลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิม 4.77บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอย่างแท้จริง และ อาจสร้างปัญหาต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะในระยะยาวได้ในอนาคต

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงานทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงกว่าปรกติมากๆ กิจการพลังงาน กิจการขนส่งคมนาคม กิจการโทรคมนาคม มาโดยตลอดและปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นในระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจควบแน่นมากขึ้น การแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจทำกันอย่างแพร่หลายและเปิดเผย จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางต้องจำยอมรับสภาพความไม่เป็นธรรมและการถูกขูดรีดอย่างถูกกฎหมาย ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) นี้เป็นผลตอบแทนส่วนเกินที่เกิดจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบนต้นทุนของประชาชน และ ยังก่อให้เกิดการสูญเสียประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วนจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยลง ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงอีก รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวต่ำลง นอกจากนี้ ยังเป็นมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันมหาศาลและผูกพันระยะยาว เป็นทุจริตเชิงนโยบายกระทำโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองแตกต่างจากการทำทุจริตแบบจัดซื้อจัดจ้างจากเงินงบประมาณซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยข้าราชการ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า หากสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในกิจการไฟฟ้าได้ ค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว เฉพาะหน้าระยะสั้นต้องกดต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าแพงมากเช่นในปัจจุบันเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้ผลิตในไทยมีความสามารถในแข่งขันด้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพงขึ้น เทียบกับประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ไทยก็มีค่าไฟฟ้าที่แพงกว่ามาก ราคาค่าไฟฟ้าในอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.22 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง เวียดนามอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย มาเลเซียอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย ส่วนลาวอยู่ที่ 1.19 บาทต่อหน่วย เมียนมาอยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง หลักการของนโยบายของกิจการพลังงาน ก็คือ เราต้องพัฒนาประชาธิปไตยพลังงานลดต้นทุนส่วนเกินพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Virtual Distributed Power Plant หรือ โรงงานไฟฟ้าเสมือนจริงกระจายศูนย์ ด้วยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก และทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมด

รศ. ดร. อนุสรณ์ ยังได้เสนอให้รัฐบาลใหม่ลดค่าไฟฟ้าลดทันที และค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3.50-4 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงและในระยะยาวแล้วควรทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วย หยุดโอนย้ายผลประโยชน์สาธารณะจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมายังผู้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ซึ่งเป็นการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการไฟฟ้านี้ ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการผลิตของไทยต้องมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงเกินมาก ไม่ควรใช้มาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าโดยรัฐผ่านการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง เพราะนั่นเท่ากับว่า รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์จากสัญญาสัมปทานที่ไม่รัดกุมแล้ว รัฐยังต้องเอาเงินภาษีมาอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าปรกติจากการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจอีก เท่ากับเป็นเสียค่าโง่ให้กับระบบการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและการผูกขาดทางเศรษฐกิจสองชั้น ซึ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าทั้งระบบโดยเฉพาะจากเอกชนรายใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ ค่าไฟฟ้าลดลงมาในทันทีและค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับที่ไม่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมากเกินไป

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้าล่าสุดในไทยทำให้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในไทย มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 5.38% ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 12.41% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม อุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 4.4% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ 9.47% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและเซรามิคต้นทุนเพิ่มขึ้น 3.05-3.82% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ระดับ 6.49-8.14% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม เมื่อพิจารณาดูภาพรวมของค่าเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.29% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4.88% (ข้อมูลกองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ) การเคลื่อนไหวของสภาอุตสาหกรรม หอการค้าและองค์กรธุรกิจเป็นผลให้ กกพ และ รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมลงมา แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้กิจการไฟฟ้า การแปรรูปกิจการไฟฟ้าต้องทำให้เกิดการแข่งขัน การแข่งขันอย่างเป็นธรรมจะไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ ต้นทุนลดลง การแปรรูปกิจการไฟฟ้าต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากการผูกขาดโดยรัฐเป็นการผูกขาดโดยเอกชนรายใหญ่ ระบบผลิตไฟฟ้าควรแปรรูปให้เอกชนร่วมผลิต ส่วนระบบส่งกระแสไฟฟ้าตามเทคโนโลยีแบบเดิม นั้นมีลักษณะเป็น การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต้องใช้ร่วมกัน เพราะหากมีการสร้างระบบส่งอีกระบบเพิ่มขึ้นมาแข่งขันกับระบบที่มีอยู่เดิมจะทำให้ลดระดับประสิทธิภาพเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ เงินทุนของสังคมควรถูกนำไปใช้ลงทุนในระบบ Smart Grid เพื่อรองรับ ระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์จากโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Distributed Virtual Power Plant) จะดีกว่า เมื่อระบบสายส่งมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ จึงควรเป็นระบบในองค์ประกอบอุตสาหกรรมไฟฟ้า (Element of Electricity Supply Industry) ที่ต้องอยู่ภายใต้การผูกขาดโดยรัฐและถูกกำกับโดย กกพ ที่ต้องเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ได้เสนอแนวทาง 3 ป. คือ ปฏิรูป ปรับโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนสัมปทาน ใน กิจการไฟฟ้าและกิจการพลังงาน การปฏิรูป ปรับโครงสร้างและปรับเปลี่ยนสัมปทานเฉพาะกิจการไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพงจะไม่สามารถสำเร็จได้ หากไม่ปฏิรูปกิจการพลังงานไปด้วย เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก หากรัฐบาลใหม่ไม่ปฏิรูปและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและพลังงานไปพร้อมกัน ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรงจากต้นทุนการผลิต การบริการและการดำเนินชีวิตสูง ความฝันในการศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวีจะเป็นไปไม่ได้ ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีก

พร้อมกันนี้ รศ. ดร. อนุสรณ์ ยังมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อรัฐบาลใหม่ 13 ข้อ มีดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ควรทบทวนแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ ศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าโดยพิจารณาว่า ระบบ Enhanced Single Buyer (ESB) ซึ่งเป็นระบบผูกขาดที่ประเทศไทยใช้มาร่วม 70 ปียังเหมาะสมอยู่หรือไม่ อย่างไร ในโลกนี้ มีการใช้อยู่หลายระบบ ระบบของไทยนั้น เราสัมปทานให้ เอกชน ร่วมผลิต และ ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ (ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้วย ทำหน้าที่จัดส่งและจำหน่ายผ่านทาง กฟน และ กฟภ) ขณะที่ ประเทศไอร์แลน์เหนือ รัฐวิคตอเรีย รัฐเซาร์เทิร์น ออสเตรเลียใช้ระบบรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง โดยองค์กรรัฐทำหน้าที่ทั้งผลิต ส่งและจำหน่าย หรือ รัฐส่วนกลางเป็นผู้ผูกขาดแต่แบ่งเขตการจำหน่ายในระดับค้าปลีก เช่น สหราชอาณาจักร หรือ เป็นโครงสร้างที่เปิดให้มีกาแข่งขันในระดับการผลิต จำหน่าย โดยระบบสายส่งจะมีความเป็นอิสระต่อทั้งสองระบบ หรือ อาจเป็นโครงสร้างแบบสหรัฐอเมริกา ที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการแข่งขันในทุกระดับและดำเนินกิจการโดยภาคเอกชนโดยมีการกำกับดูแลจากภาครัฐ บริษัทแต่ละแห่งจะเป็นเจ้าของทั้งโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้า ต่อมา มีการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมไฟฟ้ากันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าเทคโนโลยี มีการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของบริษัทเอกชนต่างๆให้มีการเชื่อมโยงกันเป็นระบบส่งใหญ่ระบบเดียว เป็น Unified Power Smart Grid แต่สามารถมีเจ้าของได้หลายราย (Multi-Owned Transmission Operator) ระบบส่งในโครงสร้างนี้จะต้องมีศูนย์ควบคุมอิสระ หรือ Independent System Operator เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้บริการระบบส่งไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ

ข้อ 2 หากยังจะใช้ระบบ Enhanced Single Buyer ระบบเดิมนั้นจำเป็นต้องมีการแยกระบบบัญชีให้ชัดเจน (Account Unbundling) ระหว่างกิจการผลิตและกิจการระบบส่งไฟฟ้า และจัดทำระบบขอบเขต (Ring Fence) ของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้ชัดเจนกว่านี้

ข้อ 3 ต้องปรับโครงสร้างการตลาดผลิตไฟฟ้าให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และ สัญญาสัมปทานควรมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนในกรณีเอกชนผลิตไฟฟ้าได้ราคาแพงกว่า ก็ให้ กฟผ. ผลิตเพิ่มเข้ามาในระบบแทน การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต การแข่งขันประมูล IPP รอบใหม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม หากแข่งขันแบบไม่เท่าเทียมในที่สุด ค่าไฟฟ้าจะแพง ประชาชนและภาคการผลิตจะเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด

ข้อ 4 ควรทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่ เพราะปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ประเมินผลการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในช่วงทศวรรษ 2540 ว่ายังเหมาะสมอยู่หรือไม่

ข้อ 5 ควรลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจากระดับ 50-60% บางช่วงขึ้นไปแตะ 62% การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินพอดีมากๆ บ่งชี้ว่า เรามีโรงไฟฟ้ามากเกินไป เกินกว่าความต้องการในประเทศมาก ผลที่ตามมา คือ อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก ความเสี่ยงของการขาดแคลนไฟฟ้าไม่มี หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่แค่ระดับ 2-3% จึงควรลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินลงมาให้อยู่ในระดับ 20-30% ก็จะสามารถลดค่าไฟได้ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.8% โดยเฉลี่ยในระยะ 15 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ. 2580 ความต้องการไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 367,458 ล้านหน่วย และ พลังไฟฟ้าสูงสุดสุทธิ (Peak) อยู่ที่ 53,997 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ระดับ 30% จึงเป็นการเพียงพอ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5-6% ในช่วง 15 ปีข้างหน้า การปรับเพิ่มการผลิตไฟฟ้าสำรองก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

ข้อ 6 ควรเพิ่มพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล เข้ามาในระบบมากขึ้น และ เพิ่มสัดส่วนมากกว่า 50%

ข้อ 7 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าต้องมีอำนาจอย่างแท้จริงในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า มีความเป็นอิสระ และปลอดจากอำนาจการแทรกแซงการปฏิบัติงานและการดำเนินการของผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ต้องถูกกำกับทางนโยบายโดยอำนาจประชาชนผ่านรัฐสภาและรัฐบาล โดย คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าต้องทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าทางด้านราคา ด้านการแข่งขัน ด้านคุณภาพบริการ และการลงทุนเพื่อคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องให้ความเป็นธรรมแก่นักลงทุนในกิจการไฟฟ้าด้วย

ข้อ 8 เมื่อมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเรียบร้อย รวมทั้งให้มีการแบ่งแยกกิจการและธุรกิจแต่ละประเภทให้ชัดเจน เช่น แยกกิจการผลิตไฟฟ้า ออกจาก ระบบจัดส่ง แยกกิจการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน หรือพลังงานฟอสซิส ออกจากกิจการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ด้วยพลังน้ำ พลังลม หรือ พลังความร้อนใต้พื้นพิภพ ควรศึกษาเพื่อพิจารณานำ กฟผ. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง โดยพิจารณาดูว่า มีกิจการใดที่ควรเข้าตลาด กิจการใดไม่ควรเข้าตลาด และกิจการใดที่รัฐควรเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ 100% ต่อไป เป็นต้น

ข้อ 9 ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT ต้องมีการปรับตามสูตรตามหลักวิชาการไม่ใช่ปรับตามความต้องการของผู้อำนาจ (กลุ่มทุนใหญ่หรือผู้มีอำนาจรัฐ) และมีการแทรกแซงโดยอำนาจทางการเมือง

ข้อ 10 ควรศึกษาว่า การกำหนดค่าไฟฟ้าควรเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศหรือไม่

ข้อ 11 ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาด ทั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ พลังงานชีวภาพ อย่างเต็มที่ เพื่อลดการพึ่งพา พลังงานฟอสซิล ลง ค่าเอฟทีมีความผันผวนจากราคาก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คือ วิธีการที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวในการลดความผันผวนของค่าเอฟทีที่ทำให้สังคมต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพง

ข้อ 12 ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชนให้มากขึ้น

ข้อ 13 ควรเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อลดค่าไฟฟ้า ไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ประชาชนจะมาจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มากขึ้น (หากการผลิตของ กฟผ. ถูกกว่า) การลดค่าไฟฟ้าสามารถทำได้ในรูปแบบเดียวกับการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาโดยตรึงราคาเอาไว้ในระยะหนึ่งและค่อยปรับเพิ่มในภายหลังเมื่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button