กทพ.เคาะแนวสร้าง “ทางด่วน 2 ชั้น” ใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ไม่มีการเวนคืน
กทพ.เคาะแล้ว ! เส้นทางสร้างด่วน 2 ชั้น (Double Deck) เลือกแนวซ้อนทับบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ยาว 17 กม. ยันไม่มีเวนคืน คาดใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เล็งเสนอ ครม. ภายในปีนี้ ขณะที่ประชาชนยังกังวลผลกระทบด้านเสียง-ฝุ่น-รถติดทางขึ้นลง และอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้าง
การแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 สำหรับโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9)
วันนี้ (22 พฤาษภาคม 66) ได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม เป็นแนวทางเลือกที่ 3 ซึ่่งมีรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน แนวสายทางมุ่งทิศใต้ซ้อนทับอยูบนทางพิเศษศรีรัช โดยช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานถึงหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่นแนวสายทางจะอยู่คู่ขนานกับทางพิเศษศรีรัชทางด้านขวามือ และบริเวณช่วงย่านพหลโยธินถึงทางแยกต่างระดับพญาไท (แนวคลองประปา) แนวสายทางจะอยู่ทางด้านซ้ายของทางพิเศษศรีรัช และแนวสายทางจะมาทางทิศตะวันออก มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร
มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.ทางขึ้น-ลง จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน 2.ทางขึ้น-ลง บริเวณย่านพหลโยธิน และ 3.ทางขึ้น-ลง จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยตลอดแนวสายทางของโครงการไม่มีการเวนคืนที่ดินเอกชน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า โครงการนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนกรกฎาคม และจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะนำเสนอรายละเอียดทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและอนุมัติในหลักการเป็นลำดับต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเสนอได้ภายในปลายปี 2566 นี้ ขณะเดียวกัน กทพ. จะดำเนินการเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี และเมื่อได้รับความเห็นชอบด้าน EIA แล้ว จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณปี 2568 และจะเปิดให้บริการในปี 2573
สำหรับรูปแบบการลงทุน ในเบื้องต้นคาดว่าโครงการจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท การลงทุนมี 2 รูปแบบ คือ 1.กทพ. ลงทุนเอง และ 2.เอกชนร่วมลงทุน โดยจะเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วน ที่ก่อนหน้านี้เคยยื่นข้อเสนอที่จะลงทุน Double Deck มาให้พิจารณาแล้ว โดยจะต้องมีการแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานเดิมออกไป กทพ. จึงต้องทำการศึกษารายละเอียดเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมก่อน อย่างไรก็ดียอมรับว่าในกรณีที่ กทพ. ลงทุนเองก็จะมีภาระด้านงบประมาณ อย่างไรก็ดียืนยันว่าทั้ง 2 แนวทาง จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะจะไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม
ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นโครงการ Double Deck ครั้งที่ 2 มีประชาชน ตัวแทนชุมชน ที่อยู่ตามแนวเส้นทางร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยภาพรวมมีความกังวลถึงผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ ทั้งผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผลกระทบด้านเสียง ผลกระทบด้านฝุ่นละออง แรงสั่นสะเทือน โครงสร้างที่จะบดบังทัศนียภาพตามแนวเส้นทาง อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง และกังวลถึงจุดทางขึ้น-ลงที่จะเป็นคอขวดส่งผลให้การจราจรยังคงติดขัด รวมถึงมีความเห็นว่าการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการและการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังต้องการให้ กทพ. มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการลดผลกระทบและการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ก่อน ซึ่งหากมีการเสนอโครงการเข้าสู่ ครม. โดยที่ประขาชนยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด ก็จะมีการไปรวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการที่ทำเนียบรัฐบาล
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นการร่วมแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ซึ่งได้กำชับให้ที่ปรึกษาทำการชี้แจงให้คำตอบที่ชัดเจนต่อประชาชนให้ชัดเจน และทุกความคิดเห็นจะบันทึกไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองก็ย่อมจะมีผลกระทบ รวมถึงมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และยอมรับว่าการก่อสร้างโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 นี้ ไม่คุ้มค่า เนื่องจากมีการลงทุนที่สูง แต่ไม่ได้ส่งผลให้ กทพ. มีรายได้หรือกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่ขอยืนยันในเป้าหมายที่ กทพ. มีความมุ่งหวังในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมให้มีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเน้นใช้พื้นที่เขตทางที่มีอยู่เป็นหลัก จะไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน หากเป็นพื้นที่ของส่วนราชการก็จะเจรจาขอใช้พื้นที่ตามขั้นตอน
“กทพ. ยืนยันว่าจะดำเนินการศึกษาโครงการตามหลักวิชาการ และจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และพร้อมที่จะชี้แจงต่อประชาชน ทุกความคิดเห็นของประชาชนจะมีการบันทึกลงไว้ในรายงาน EIA และเสนอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย ยืนยันว่า กทพ. มุ่งหวังที่จะก่อสร้างโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนโครงข่ายทางพิเศษ และเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน แต่จะได้ก่อสร้างหรือไม่นั้น ต้องรอผลการพิจารณา EIA ก่อนว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ หากไม่ได้รับการอนุมัติ กทพ. ก็พร้อมที่จะยุติโครงการ” ผู้ว่าการ กทพ. กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 มีพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง ซึ่งตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ซึ่งที่ปรึกษาจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป โดย กทพ. มุ่งหวังให้โครงการนี้ ได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิต