พลังงาน

พพ. ลุยติดตามงบประหยัดพลังงาน “ปูนซีเมนต์ไทยลำปาง” เซฟค่าใช้จ่ายปีละ 460 ล้านบาท

พพ. เดินหน้าประหยัดพลังงานเข้มข้น ตะลุยพื้นที่จังหวัดลำปาง ตรวจเยี่ยมโครงการสำคัญหนึ่งใน 381 ผู้ประกอบการที่ได้ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เผยประสบความสำเร็จช่วยประหยัดพลังงานมากกว่า 460 ล้านบาทต่อปี พร้อมลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้การประหยัดพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับประชาชน ด้าน “ปูนซีเมนต์ไทยลำปาง” ปลื้มเซฟค่าใช้จ่ายปีละ 5 ล้านบาท หนุนแผนใช้พลังงานทดแทน “โซลาร์รูฟ-โซลาร์โฟล์ทติ้ง-ลมร้อน-ชีวมวล” ลดคาร์บอน 30% ในระยะ  5 ปี

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้ติดตามงานด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์เพื่อ การอนุรักษ์พลังงาน โดย พพ. ได้สนันสนุนเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในสัดส่วนร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท

ทั้งนี้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เป็นบริษัทในเครือเอสซีจี มีกำลังการผลิต 2.1 ล้านตัน ซึ่งธุรกิจซีเมนต์ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจแรกของ SCG เดิมบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด มีเครื่องอัดอากาศ (air compressor) ในไลน์ การผลิตปูนของโรงงานที่มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน และมีประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้นจึงได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอัดอากาศ ชนิด VSD screw air compressor พิกัด 110 กิโลวัตต์ จำนวน 5 ชุด ทดแทนชุดเดิมเพื่อลดการใช้พลังงาน จากผลการดำเนินงานในมาตรการ “การใช้เครื่องอัดอากาศประสิทธิภาพสูงทดแทนชุดเดิม”นั้น ทางบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ใช้งบประมาณลงทุนไป 5,008,659.65 บาท ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการฯ จำนวน 1,001,731.93 บาท เกิดผลประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 1,718,530.16 หน่วยต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 5,052,478.68 บาทต่อปี และสามารถลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 859.09 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีผู้ประกอบการได้รับ การสนับสนุนจำนวน 381 ราย รวมวงเงินที่สนับสนุน 288.63 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 1,309.42 ล้านบาท มีผลประหยัดพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 14 พันตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 121,110 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 463.47 ล้านบาทต่อปี โดยมาตรการ ที่ได้รับความนิยมในการขอรับสนับสนุน อาทิ มาตรการเปลี่ยนเครื่องอัดอากาศ,มาตรการเปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็น Chiller ,มาตรการเปลี่ยนอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบ VSD, มาตรการเปลี่ยนมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง และมาตรการเปลี่ยน เครื่องฉีดพลาสติก นับได้ว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยจากนี้จะนำไปเป็นกรณีตัวอย่างมาตรการอนุรักษ์พลังงานนำไปเผยแพร่ขยายผลต่อไป

“ภาพรวมทาง พพ. ได้รับเงินสนับสนุนจากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกว่า 400 ล้านบาท เมื่อปี 2564 และได้มีการเปิดรับสมัครให้ผู้ที่สนใจยื่นเข้ามา และทางปูนซีเมนต์ (ลำปาง) ได้ยื่นของบมาเพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องอัดอากาศ เครื่องทำน้ำเย็น ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีสามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 5 ล้านบาทต่อปี ถือว่าเป็น 1 ใน 300 กว่าโครงการที่เข้าร่วมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” อธิบดี พพ. กล่าว

นายวรการ พงษ์ศิริกุล Cement Plant Director บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด

ด้านนายวรการ พงษ์ศิริกุล Cement Plant Director บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า ปูนซิเมนต์ไทยลำปาง จำกัด เป็นบริษัทในเครือเอสซีจี มีกำลังการผลิต 2.1 ล้านตัน เป็นโรงงานควบคุม มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้ารวม 188,436,133.00 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าประมาณ 554 ล้านบาทต่อปี และมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานทางเลือก ประมาณ 499 ตันต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานความร้อนประมาณ 759 ล้านบาทต่อปี

ก่อนหน้านี้ ปูนซิเมนต์ไทยลำปาง มีเครื่องอัดอากาศ (air compressor) ในไลน์การผลิตปูนของโรงงาน ที่มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน และมีประสิทธิภาพต่ำ โดยทางโรงงานมีเครื่องอัดอากาศ ชนิด screw air compressor ขนาดพิกัด 110 kW จำนวน 5 ตัว กำลังไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 578.30 kW และประสิทธิภาพ 7.78, 7.34, 7.45, 7.24, 7.36 (kW/m3/min) ตามลำดับ จึงได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอัดอากาศ ชนิด VSD screw air compressor พิกัด 110 kW จำนวน 5 ชุด ทดแทนชุดเดิมเพื่อลดการใช้พลังงาน

หลังจากผลการดำเนินงานในมาตรการ “การใช้เครื่องอัดอากาศประสิทธิภาพสูงทดแทนชุดเดิม” นั้น ทาง ปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง ใช้งบประมาณลงทุนไป 5,008,659.65 บาท ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ จำนวน 1,001,731.93 บาท เกิดผลประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 1,718,530.16 kWh/ปี หรือ 0.146 ktoe/ปี คิดเป็นผลประหยัดเท่ากับ 5,052,478.68 บาท/ปี ด้วยระยะเวลาคืนทุน 0.99 ปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้ถึง 859.09 tCO2e/ปี

“โครงการที่ได้รับงบสนับสนุนจาก พพ. ครั้งนี้เป็นโครงการช่วยเร่งยการตัดสินใจที่จะปรับปรุงและลดต้นทุนด้านการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5 ล้านบาทต่อปี และจะทำให้เราสำเร็จตามเป้าหมายในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วขึ้น”

นายวรการ กล่าวด้วยว่า ปูนซีเมนต์ไทยลำปาง มีแผนออกโลว์คาร์บอนซีเมนต์ เพื่อเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทนหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (โซลาร์รูฟ) แล้วเมื่อปี 2565 จำนวน 2.2 เมกะวัตต์ ในปี 2566 มีแผนจะติดตั้งเพิ่มอีก 1.2 เมกะวัตต์ รวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟ จำนวน 8 เมกะวัตต์ และติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (โซลาร์โฟล์ทติ้ง) จำนวน 1 เมกะวัตต์

ในอนาคตมีแผนนำใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส เช่น ซังข้าวโพด ในพื้นที่จังหวัดลำปางที่มีอยู่จำนวนมากมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตปูนซีเมนต์ทดแทนลิกไนต์ จำนวน 10 เมกะวัตต์ ในปี 2026

นอกจากนี้ ยังได้นำลมร้อนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิปูนซีเมนต์กลับมาใช้อีก โดยมีเทคโนโลยีนำลมร้อนมาปั่นไฟ ซึ่งตอนนี้สามารถนำลมร้อนใช้นไฟได้ 27% และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมว่าจะสามารถนำลมร้อนที่เหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่งสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่เหลือทิ้งนำใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นายวรการ กล่าวอีกว่า ปูนซีเมนต์ไทยลำปางยังมีโครงการ “ชุมชนต้นแบบลดการเผา” เนื่องจากสภาวะในจังหวัดลำปางมีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว จำนวนมาก จึงเกิดความร่วมมือขึ้นกับทางจังหวัดที่จะสร้างชุมชนต้นแบบเพื่อช่วยลดการเผาได้บ้าง ทำให้เกิดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ  ชุมชนที่สนใจมีส่วนร่วม  โดยทางปูนซีเมนต์ลำปางสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องตัดฟาง ชุมชนออกแรงงาน และค่าน้ำมัน เมื่อฤดูการเก็บเกี่ยวชุมชนสามารถเก็บฟางข้าวด้วยอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทางปูนซีเมนต์ไทยลำปางมอบให้ หลังจากนั้นนำฟางข้าวมาแบ่งกันตามข้อตกลงที่ทำไว้ โดยชุมชนสามารถเก็บฟางข้าวไว้ได้ 50% เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือนำไปขายไป ส่วนอีก 50% นำมาขายให้กับทางปูนซีเมนต์ไทยลำปางในราคาต้นทุน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตปูนซีเมนต์ทดแทนลิกไนต์

“โครงการชุมชนต้นแบบลดการเผาเพิ่งเริ่มกับชุมชนแรก เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเครื่องจักรเก็บฟางข้าว ซึ่งชุมชนแรกที่เข้าไปสนับสนุนคาดว่าจะมีฟางข้าวประมาณ 1 หมื่นตัน จากนั้นค่อยขยายออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป”

ทั้งนี้ การใช้พลังงานทดแทน และกิจกรรมประหยัดพลังงานของปูนซีเมนต์จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกไปได้ 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายภาพรวมของเอสซีจีเน็ตซีโร่ในปี 2050

นอกจากนี้ ทาง พพ.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม มูลนิธิณัฐภูมิ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม “พลังงานสร้างสุข สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” สร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ณ มูลนิธิณัฐภูมิ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ เรื่องการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาปรับใช้ ในชีวิตประจำวัน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอย่างยั่งยืน โดยมีประชาชนกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานได้มีการบรรยายสร้างความรู้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม โดย ศูนย์บริการวิชาการที่ 7 (จ.เชียงใหม่) กองถ่ายทอดและเผยแพร่ เทคโนโลยี พพ. ,นิทรรศการสาธิตการทำงานของระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  และการสร้างและเทคนิคการเผาถ่าน จากเตาถ่าน 200 ลิตร ด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button