พลังงาน

กฟผ. ผนึก “อินโนพาวเวอร์” เสริมแกร่งระบบส่งไฟฟ้าสู่ Grid Modernization 

กฟผ. และ อินโนพาวเวอร์ ลงนาม MOU บูรณาการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Grid Modernization) ปูทางอนาคตหนุนเทรนด์พลังงานหมุนเวียน ร่วมสร้างโอกาสประเทศ

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการเพื่อการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อร่วมกันพัฒนา Grid Modernization ด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ระบบศูนย์กลางและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAS) และระบบบริหารจัดการหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. เผยว่า ในอนาคตระบบส่งไฟฟ้าจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้นเพื่อพัฒนาสมรรถภาพของโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) สู่รูปแบบใหม่ การที่บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมให้การสนับสนุนโดยพัฒนาและนำเทคโนโลยีด้านระบบส่งไฟฟ้ามาใช้ภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ จะเป็นโอกาสในการต่อยอดและขยายผลเชิงธุรกิจต่อไป อีกทั้งเป็นโอกาสของประเทศที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้าน Grid Modernization ในภูมิภาคต่อไปด้วย

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด มุ่งเน้นการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต พร้อมพัฒนาธุรกิจใหม่และแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนและต่อยอด Grid Modernization หนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศและกลุ่ม กฟผ. ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปูทางอนาคตให้กับประเทศและ กฟผ. ต่อไป

เทคโนโลยีด้านระบบส่งไฟฟ้า เป็นหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญเพื่อรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) โดรน (Drone) วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และเทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) ช่วยให้การตรวจสอบการปฏิบัติการและบำรุงรักษาระบบส่งไฟฟ้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) เซนเซอร์อัจฉริยะ และ IoT เป็นการบูรณาการระบบบริหารข้อมูลที่ทันสมัยเข้ากับระบบส่งไฟฟ้า สามารถติดตามและตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงได้แบบ Real-Time 3) แพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูล ช่วยให้การรับทราบข้อมูล ตลอดจนการติดตามและวิเคราะห์ภาพรวมระบบส่งไฟฟ้าของประเทศครอบคลุมครบถ้วน ทำให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงสถิติของพลังงานไฟฟ้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (Grid Stability) ให้รองรับพลังงานหมุนเวียนและความต้องการใช้ไฟฟ้าจากยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button