พลังงาน

เผย “ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน” ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานครั้งใหญ่เกิดการเลิกจ้าง 6 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ถอดบทเรียน 4 กรณีศึกษาปิดเหมืองถ่านหินและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รับมือประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด

เวทีเสวนา “เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย เป็น “ธรรม” หรือ “ทำ” ตามใคร” ชี้ “ยุคพลังงานสะอาด” ทำให้เกิดการเลิกจ้าง 6 ล้านตำแหน่งทั่วโลก มีแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและปรับตัวแรงงานสู่ภาคพลังงานทดแทนครั้งใหญ่ ถอดบทเรียน 4 ประเทศกรณีศึกษาการปิดเหมืองถ่านหินและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานและชุมชนอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ “อดีตผู้ว่าฯ กฟผ.” เสนอไอเดียให้คงโรงไฟฟ้าฟอสซิลควบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย เป็น “ธรรม” หรือ “ทำ” ตามใคร” โดยมี รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจาย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยารัตน์,นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายประสิทธิ ประสพสุข ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILIT) เป็นวิทยากร ที่โรงแรมเบลล่า อ.บางกรวย จ.นนทบรี ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นช่วงกาเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดจะส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางภาครัฐจะต้องให้การดูแลและเปิดให้มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ขณะที่ช่วงแรกยังจำเป็นจะต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าหลักจากฟอสซิล เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญของโลก” ในตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ขึ้นมาถึง 24 ล้านตำแหน่ง ทั่วโลกภายในปี 2573 ในขณะเดียวกันจะมีตำแหน่งงานที่ต้องสูญเสียไปเช่นกัน จำนวน 6 ล้านตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งงานในเหมืองแร่ ถ่านหิน รวมถึงพลังงานฟอสซิลด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาการตกงาน แต่ถ้ามองลึกซึ้งลงไปจะพบปัญหาว่า การที่แรงงานในภาคเศรษฐกิจแบบเก่าจะเข้าถึงโอกาสตำแหน่งงานใหม่ๆ ถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย เช่น คนงานเหมือนแร่จะไปทำงานซอฟแวร์ หรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดได้อย่างไร รวมถึงการเข้าถึงตำแหน่งงานประเภทพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ถือว่าเป็นเรื่องยากเพราะมีการใช้ทักษะการทำงานที่แตกต่างกัน เป็นต้น

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ทำให้เกิดการการสูญเสียตำแหน่งงานเดิม รวมถึงอาจจะทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานด้วย และเกี่ยวข้องกับระยะเวลาอาจจะมีการปิดเหมือนก่อน ทำให้ตกงานก่อนที่จะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดกัน”

รศ.ดร.กิริยา กล่าวถึงตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า ที่เมืองรัวห์ ประเทศเยอรมนีที่ทำเหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมหนักมีแนวคิดจะเปิดเหมืองถ่านหินเพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียว แต่คนงานกลัวตกงานจึงพยายามขอให้ภาครัฐอุดหนุนเรื่องต้นทุนราคา ซึ่งนำมาสู่การหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อทางหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจ กลุ่ม NGO ชุมชน และสหภาพแรงงานฯที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความเข้าใจนำประเด็นปัญหาที่หลากหลายมาสู่การแก้ไข ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่ทันสมัยทางเทคโนโลยี มีการเกิดการจ้างงานต่าง ๆ จำนวนมาก

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่เยอรมนีที่เมืองรัวห์ ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งจากการปิดเหมืองถ่านหิน สุดท้ายเมืองนี้ก็กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีมหาวิทยาลัย มีนักวิทยาศาสตร์คนเก่ง ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก เป็นการเปลี่ยนโฉมให้มีความหลากหลายทางธุรกิจ เพราะการสูญเสียเหมืองมันยิ่งใหญ่มาก จึงต้องทดแทนด้วยสิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

ส่วนที่รัฐวิคตรอเรีย ประเทศออสเตรเลียก็มีปัญหาเรื่องปิดเหมืองถ่านหินกระทันหันภายใน 5 เดือน ทำให้คนงานเตรียมตัวไม่ทัน สหภาพฯ ได้มีการเจรจาให้มีการจ่ายเงินชดเชย ทางรัฐวิคตรอเรียได้จัดให้มี “การเจรจาทางสังคม” ด้วยการโอนคนงานไปที่โรงไฟฟ้าและเหมืองที่ใกล้เคียง และมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด และการลาออกจากงานโดยสมัครใจ สุดท้ายหลังจากเหมืองถ่านหินปิดไป 2 ปี มีคนได้ทำงานและเกษียณอายุไป 74% แต่ยังมีคนว่างงานอีก 26% ซึ่งนิยามการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจะต้องดูแลทุกคน ต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นบทเรียนที่ยังมีคนตกงานอยู่จำนวนมาก ถ้ามีการวางแผนที่ดี หรือแจ้งจะปิดเหมืองล่วงหน้า 7 ปี จะสามารถวางแผนชีวิตเพื่อไปหางานใหม่ ๆ ได้

กรณีที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกามีการปิดเหมืองถ่านหินแถวน้ำตกไนแองการ่าที่เป็นเหมืองใหญ่  ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานเท่านั้น ทางชุมชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะเดิมงบประมาณของรัฐมาจากการจ่ายภาษีของเหมืองในเมืองแห่งนี้ พอเหมืองปิดตัวส่งผลให้โรงเรียนปิดตามไปด้วย ครู ลูกจ้างพากันตกงาน  จึงมีการคุยกันทำแผนเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเมือง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ได้นำอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาทำในพื้นที่ มีการบำรุงอาคารเก่า ๆ มีการพัฒนาที่นั่งริมแม่น้ำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเกิดจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นชุมชนเพื่อเปลี่ยนผ่านพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

และที่ประเทศอินเดียได้ตั้งเป้าหมายทำสวนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ขาดการพัฒนา และไม่เหมาะกับการเพาะปลูก โดยจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าของ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้คนที่มีที่ดินขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ และทำให้เกิดการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านพลังงานบริเวณนี้ต่อมามีการล้อมรั้วได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนไม่สามารถนำวัวไปเลี้ยงในพื้นที่ได้เหมือนเดิม หรือไม่สามารถเดินไปเก็บผักเหมือนเดิมได้ ทำให้คนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงเกิดคำคำถามว่า สามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ถ้าหากมีการสร้างโซลาร์ฟาร์มด้านบนแล้วมีการปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ด้านล่างจะทำได้ไหม หรือมีทางออกวิธีอื่น เช่น การก่อสร้างโซลาร์บนหลังคา หรือทำเป็นโซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น

“ที่อินเดียเป็นการทำโครงการพลังงานสะอาดทำให้ไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบชุมชน จากกรณีนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า แม้ว่าจะเป็นโครงการพลังงานสะอาดก็ไม่ควรจะละเลยที่จะประเมินผลด้านนี้เช่นกัน” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

รศ.ดร.กิริยา กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยในที่สุดแล้วเหมืองถ่านหินจะต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยจะต้องเรียนรู้การเปลี่ยนผ่านเอาสังคม ชุมชน คนงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยมากขึ้น และวางแผนกลุยทธ์หลังจากเปลี่ยนผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อไป อย่างเช่นที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง ได้วางให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ และแหล่งท่องเที่ยว ส่วนเหมืองถ่านหินที่อื่นๆ เมื่อเหมืองปิดตัวลงเดิมมีการจ้างงานชุมชน ต่อไปจะไปทำอะไร หรือการได้รับการอุดหนุนจากกองทุนต่างๆ วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไรจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกัน

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ.

ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. เสวนาเรื่อง “Green Energy มาแรงแซงโค้ง แรงงานไฟฟ้าจะไปในทิศทางใด” ในตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังจำเป็นที่จะต้องมีการประคับประคองจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าหลัก รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็จะได้โมเดลแบบนี้ อย่างเช่น ประเทศเยอรมนีจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินควบคู่กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติคอยประคับประคอง โดยเยอรมนีมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง คิดเป็นสัดส่วนของโรงไฟฟ้าฟอสซิล 40% และโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 60% และยังพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 240% ทำให้ช่วงเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีราคาสูง เยอรมนีไม่ได้รับผลกระทบจากการจะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติแต่อย่างใด

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่จะมีการลดพลังงานฟอสซิล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน เพราะพลังงานทดแทนยังอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้”

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยารัตน์

ขณะที่ ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยารัตน์ เสวนาเรื่อง “แรงงานภาคพลังงานจะรอดอย่างไร” ตอนหนึ่งว่า นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ประเทศไทยมีการถกเถียงกันมาตลอดว่า ควรมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานทดแทนหรือไม่ ซึ่งในวันนี้ต้องยอมรับว่าโลกได้ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านแล้ว และจะต้องเดินหน้าอย่างเดียว ไม่มีถอยหลังแล้ว ซึ่งตนได้เสนอ 3 แนวทางต่อสหภาพแรงงานฯ ที่ควรดำเนินการจากนี้ไปเพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ประการแรก ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประการที่สอง เตรียมการเจรจาต่อรอง และประการสุดท้าย การต่อรองค่าชดเชย และจะต่อรองกับใคร กรณีมีการปิดเหมืองถ่านหินขึ้นมา

“ในที่สุดเพื่ิอรองรับการเปลี่ยนผ่าน การเข้ามาของเทคโนโลยี แรงงานควรมีการ Up-skii หรือ Re-skill เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะความรู้หรือทักษะที่เรามีอาจจะใช้ไม่ได้ หรือไม่เพียงพออีกต่อไป”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button