UBE ประกาศผลการดำเนินงาน ไตรมาส 3 กำไร 20.7 ล้านบาท เดินหน้าสู่ผู้นำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลังงานและอาหารจากวัตถุดิบทางเกษตร
บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ ยูบีอี ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เอทานอล แป้งมันสำปะหลัง ฟลาวมันสำปะหลัง รวมถึงผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อื่นๆ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2566 มีรายได้ 1,434.7 ล้านบาท กำไร 20.7 ล้านบาท จากสถานการณ์วัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลายและการเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว โดยธุรกิจเอทานอลมียอดการขายเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจแป้งมันสำปะหลังมีราคาขายที่สูงขึ้น บริษัทฯ ยังเดินหน้างานวิจัยพัฒนาเพื่อนำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางพลังงานและอาหารจากวัตถุดิบทางเกษตรที่มีมูลค่าสูง ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับกิจการที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE เปิดเผยว่า “ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ฟื้นตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ผลจากสถานการณ์วัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลาย ขณะเดียวกันก็ได้รับอานิสงส์จากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้มีปริมาณการขายเอทานอลเพิ่มประมาณ 22% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ธุรกิจแป้งมันสำปะหลังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นประมาณ 8% เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบยังมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของยูบีอียังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลกระทบสำคัญจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ประกอบกับลูกค้ายังมีสต๊อกสินค้าที่กักตุนไว้ตั้งแต่ในช่วงสถานการณ์โควิดอยู่ในระดับสูง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังลดลง ด้านการทำตลาดผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังในประเทศ ภายใต้แบรนด์ทาสุโกะ (Tasuko) ของอุบลซันฟลาวเวอร์ ได้รับการตอบรับที่ดีและมีปริมาณการจำหน่ายโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แป้งทอดกรอบเพิ่มขึ้น จากที่เราเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านผลการดำเนินงานอื่นๆ ในไตรมาสนี้ ยูบีอี ได้เดินหน้าสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าอย่างต่อเนื่อง ตามแผนกลยุทธ์ “UBEYOND” (ยู-บียอนด์)* โดยเฉพาะในด้าน Beyond Sustainability หรือ การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่เรายังมุ่งมั่นเดินหน้าตามหลักธรรมาภิบาลที่มี ESG เป็นวัฒนธรรมองค์กรโดยมุ่งเป้าดำเนินตามกลยุทธ์การบริหารจัดการวัตถุดิบที่ยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาการเพาะปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการอบรมและการทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรแบบบูรณาการยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรายังดำเนินโครงการ UBE CARE เราดูแล…เราใส่ใจ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับกิจการที่ดีขององค์กร ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราประสบความสำเร็จ ได้รับการประเมิน CG ระดับ “ดีเลิศ” หรือ 5 ดาว และ หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ “A” ในที่สุด และเพื่อตอบโจทย์การก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์พลังงานและอาหารจากวัตถุดิบทางเกษตรที่มีนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน ยูบีอี ยังเดินหน้าพัฒนางานด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ยกระดับความสามารถในการทดสอบของห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์เอทานอลจนได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025:2017 พร้อมส่งมอบบริการทดสอบผลิตภัณฑ์สู่ลูกค้าภายนอกได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ของ ยูบีอี สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 1,434.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% จากไตรมาสที่แล้ว (QoQ) แต่ลดลง 19.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีกำไรสุทธิที่ 20.7 ล้านบาท สาเหตุหลักจากสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังกลับมาดำเนินการปกติ ประกอบกับราคาแป้งมันสำปะหลังที่สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น ส่วนธุรกิจเอทานอลมีปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว
“สำหรับทิศทางธุรกิจในไตรมาสที่ 4/2566 สถานการณ์วัตถุดิบมันสำปะหลังเริ่มคลี่คลาย แต่อาจต้องคอยเฝ้าระวังผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง โดยธุรกิจเอทานอล ยังมีแนวโน้มราคาวัตถุดิบสูงทั้งกากน้ำตาลและมันเส้น ซึ่งอาจมีผลต่อราคาจำหน่ายเอทานอล แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอานิสงส์จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่าจะยังมีปริมาณความต้องการใช้งานเอทานอลเช่นเดียวกับไตรมาสก่อน ส่วนธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ราคาจำหน่ายยังอยู่ในระดับสูงต่อไปจากราคาวัตถุดิบ โดยคาดว่าไตรมาสนี้จะเริ่มมีคำสั่งซื้อทะยอยกลับมาเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดู High Season ที่จะมีปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น และสต๊อกเดิมที่ลูกค้ามีอยู่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ยูบีอี ยังเดินหน้าความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกรต้นน้ำอันจะนำไปสู่การมีวัตถุดิบที่ยั่งยืน ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางพลังงานและอาหารมูลค่าสูง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม วิจัยและพัฒนา รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าบนหัวใจการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยมี ESG เป็นพื้นฐาน และการยึดมั่นนโยบายต่อต้านการทุจริต โดยได้เข้าเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) เพื่อรักษามาตรฐานการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนที่ครอบคลุมในทุกมิติ” นางสาวสุรียส กล่าวในที่สุด
หมายเหตุ:
*UBEYOND (ยู-บียอนด์) มาจากการผนึกกำลังของคำว่า UBE + Beyond เป็นแนวคิดและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ UBE และบริษัทในเครือ ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าที่มีอยู่เดิมในทุกมิติอย่างยั่งยืน