กฟน.-กฟภ. คืนเงินประกันมิเตอร์ลูกค้าชั้นดี มี.ค. นี้ บ้านมือสอง-บ้านเช่ารอคิวต่อไป
กฟน.-กฟภ. ถกหลักเกณฑ์คืนเงินสดค่าประกันมิเตอร์ ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ 21.5 ล้านราย ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ในวันที่ 13 มี.ค. เคาะจ่ายลอตแรกค้าชั้นดีมีคุณสมบัติพร้อมก่อนเลย ส่วนบ้านมือสองที่ยังไม่โอนมิเตอร์ และบ้านเช่ารอสรุปหลักเกณฑ์การจ่าย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมกากับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 นี้ สำนักงาน กกพ.จะมีการหารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ในการจ่ายงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนให้กับประชาชน จำนวน 21.5 ล้านราย โดยจะพิจารณาแบ่งการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพร้อม ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดียวกันกับผู้ที่ได้ยื่นจ่ายเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ กลุ่มนี้สามารถจ่ายเงินคืนได้เลย คาดว่าจะทยอยจ่ายคืนภายในเดือนมีนาคม 2563 นี้
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีปัญหาที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากับคนยื่นประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นคนละคนกัน เช่น บ้านเช่า บ้านมือสองที่ยังไม่ได้โอนมิเตอร์ และรายที่มีการค้างชำระค่าไฟ กลุ่มนี้จะต้องรอการประชุมสรุปหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ถูกต้องก่อน เพื่อป้องกันการฟ้องร้องในภายหลัง ซึ่งหลังจากหารือกับ กฟน. และกฟภ. แล้วจะทราบรายละเอียดว่าสามารถคืนเงินได้เมื่อไหร่
สำหรับวิธีการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะคืนเป็นเงินสด หรือหักจากบิลค่าใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ซึ่งการจ่ายเงินคืนสดจะมีทั้งทางเคาน์เตอร์ การหรือทางแอพพลิเคชั่น แต่จะต้องหารือกับผู้จำหน่ายไฟฟ้าทั้ง กฟน. และกฟภ. ก่อน เพราะจะต้องดูรายละเอียดอื่นๆ ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีการค้างชำระค่าไฟหรือไม่ และจะมีการสร้างแอพพลิคชั่นขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเลือกว่าต้องการจะให้คืนเงินในช่องทางที่สะดวกที่สุด โดยเฉพาะ กฟภ. ที่มีพื้นที่ทั่วประเทศอาจจะมีข้อจำกัดในการอำนวยความสะดวกน้อยกว่า กฟน.
“กกพ. ได้มีการเรียกประชุมหารือร่วมกับ กฟน. และ กฟภ.พร้อมกับได้ให้นโยบายการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านพักอาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่มีอยู่ประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เน้นทยอยคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพร้อมเป็นอันดับแรก โดยหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น คาดว่าจะเร่งออกหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ได้ภายในเดือนนี้” นายคมกฤช กล่าว
นายคมกฤช กล่าวว่า มาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นมาตรการล่าสุดของสำนักงาน กกพ. ซึ่งได้มีการดำเนินการ เพื่อการยกระดับการคุ้มครองสิทธิ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทยอย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และล่าสุดมาตรการคืนเงิน ดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้ และเริ่มคืนดอกผลผ่านส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า รายย่อย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงมีผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 3,899,775 ราย เป็นเงิน 13,581,169,471.36 แบ่งเป็นประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย แบบขนาด 5 แอมป์ มี 815,454 ราย เป็นเงิน 1,967,975,136 บาทขนาด 15 แอมป์ มี 2,103,651 ราย เป็นเงิน 5,076,844,143 และขนาด 30 แอมป์ มี 436,714 ราย เป็นเงิน 1,053,943,317 บาท
ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก แบ่งเป็นแบบขนาด 5 แอมป์ มี 73,594 ราย เป็นเงิน 771,212,195 บาทขนาด 15 แอมป์ มี 237,718 ราย เป็นเงิน 2,491,113,684 และขนาด 30 แอมป์ มี 141,442 ราย เป็นเงิน 1,482,210,442 บาท
สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีผู้ใช้ไฟทั้งสิ้น 19,534,834 ราย เป็นเงิน 19,987,056,047 บาท บาท แบ่งเป็นประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ขนาด 5 แอมป์ มี 13,559,031 ราย เป็นเงิน 5,236,945,330 บาท ขนาด 15 แอมป์ มี 4,183,309 เป็นเงิน 8,892,451,714 และขนาด 30 แอมป์ มี 168,120 ราย เป็นเงิน 1,070,337,271 บาท
ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก แบ่งเป็นแบบขนาด 5 แอมป์ มี 565,481 ราย เป็นเงิน 584,131,749 บาท ขนาด 15 แอมป์ มี 855,173 ราย เป็นเงิน 2,436,890,101 และขนาด 30 แอมป์ มี 203,720 ราย เป็นเงิน 1,766,299,883 บาท
การวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ขนาด 5 แอมป์ จำนวน 300 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 2,000 บาท ขนาด 30 แอมป์ จำนวน 4,000-6,000 บาท และกิจการเอสเอ็มอี จำนวน 12,000 บาท