ท่องเที่ยววิถีเกษตรเมืองราชบุรี ล่องเรือชมสวน
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้วยแนวคิดดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในทุกจังหวัด โดยชูจุดขาย “ ท่องเที่ยวธรรมชาติ วิถีชีวิตเกษตร เสน่ห์แห่งภูมิปัญญา” ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น หวังก่อให้เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างชุมชนที่เข้มแข็งโดยลูกหลานไม่ต้องลำบากออกไปหางานนอกบ้าน ช่วยเพิ่มโอกาสขายสินค้าได้ภายในชุมชน ทำให้สังคมชนบทของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล
ท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีเกษตรเมืองราชบุรี
ท่องเที่ยว “ วิถีคลอง วิถีไทยตามรอยเสด็จคลองดำเนิน ” หนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวการเกษตรที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี อยากชักชวนคนไทยลองหาเวลาว่างไปเที่ยวชมกัน
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีเกษตร และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้นั่งเรือ ล่องไปตามคลอง ชมบรรยากาศริมคลองอันร่มรื่น ชิลล์ลมไปตามสายน้ำ ตื่นตาตื่นใจกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน พายเรือตามร่องสวน ชิมผลไม้สดๆจากสวนเกษตรแม่ทองหยิบ รับประทานอาหารที่ทำกันสดๆจากวัตถุดิบที่มีในสวน และช็อปสินค้าของฝากติดไม้ติดมือไปฝากคนที่บ้านในราคาพื้นบ้านอีกด้วย
เส้นทางท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนินแห่งนี้ บริหารจัดการโดยชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวมุมมองใหม่ๆ ให้กับชุมชนคลองดำเนินสะดวกแล้ว ยังสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยววิถีคลอง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรีอีกด้วย
ปักหมุดเส้นทางท่องเที่ยววิถีคลองดำเนิน
สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ได้ปักหมุด 4 ไฮไลท์ในกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน ประกอบด้วย
1 วัดโชติทายการาม ตามรอยเสด็จ เรียนรู้ประวัติศาสตร์
-รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ขุดคลองดำเนินสะดวกเพื่อเป็นเส้นทางสัญจร
-รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นเสด็จประทับแรมที่วัดทรงเยี่ยมเยียนราษฎร
-รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จทอดพระกฐินต้น
-พิพิธภัณฑ์เรือและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เชื่อมรอยวิถีไทย วิถีคลอง ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน
-มณฑป และเจดีย์โบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร
-ครูเพลง สุรพล สมบัติเจริญ เกาะเรือโยงมาขอเป็นลูกศิษย์วัด และแต่งเพลง ดำเนินจ๋า
2 บ้านมหาดเล็ก เจ๊กฮวด
ตื่นตาตื่นใจกับเมนูอาหารที่ทำถวายรัชกาลที่ 5 รับเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์และราษฎรของพระองค์ ผู้เป็นสหายหลวง
- สวนเกษตรผสมผสานแม่ทองหยิบ ล่องเรือชมสวนศึกษาวิถีเกษตร มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ เรียนรู้การปลูกไม้ผลแบบลดต้นทุนการผลิต ล่องเรือชมสวน และชิมผลไม้สดๆ
- ตลาดเหล่าตั๊กลัก
ชมพิพิธภัณฑ์ ช็อบของฝาก ตลาดดั้งเดิมของอำเภอดำเนินสะดวก สามารถฟื้นฟูเป็นตลาดน้ำที่มีชีวิตดังอดีต ชิมอาหารพื้นถิ่น ชมการแสดงวัฒนธรรม อาทิ ผู้สูงอายุเล่นดนตรีอังกะลุง และมีนักร้องขับกล่อมเพลงสุรชัย สมบัติเจริญ ครูเพลงและผู้ประพันธ์เพลง ดำเนินจ๋า ในขณะเป็นเด็กวัดโชติทายการาม ช็อปสินค้าของฝาก และของที่ระลึก
สวนเกษตรแม่ทองหยิบ
แม่ทองหยิบเล่าว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว พื้นที่ดำเนินสะดวกเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำสวน ปลูกพืชอายุสั้น เช่น หอมแดง พริก ถั่วลิสง ข้าวโพด เป็นต้น เนื่องด้วยเป็นที่ราบลุ่มช่วงฤดูฝนน้ำจะหลากมา จึงต้องปลูกพืชอายุสั้น นอกจากนี้ช่วงน้ำท่วมจะหาปลาหากิ่งไม้เก็บไว้เพื่อใช้สำหรับเป็นฟืนสำหรับใช้ในการหุงหาอาหาร
ด้วยภูมิปัญญาจึงคิดทำคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น เพื่อคันจะได้กันน้ำไม่ให้ท่วมในสวน จึงสามารถปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชอายุสั้นมาปลูกไม้ผลยืนต้นได้ เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป รายได้เพิ่มพูน และได้ปลูกไม้ยืนต้นสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันรุ่นลูกๆ เมื่อสามารถทำสวนได้ทั้งปีไม่ว่าฤดูร้อน ฝน หนาว พวกเรามีงานเข้าสวนกันตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้ เรียกได้ว่าพวกเรามีกินมีใช้ตลอดทั้งปีกันเลยก็ว่าได้
ลูกของแม่… พี่ไพศาลเป็นนักคิดค้น ประกอบกับการชอบศึกษาค้นคว้าดัดแปลง และได้ไปเห็นต้นแบบในการทำสวนแบบผสมผสานจึงเกิดความสนใจ และได้นำมาปรับใช้กับส่วนของตนเอง พร้อมกับน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติประกอบด้วย จนเกิดเป็นสวนแบบผสมผสานสองฝั่งคลองที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เกษตรปลอดภัย
สวนเกื้อกูลกัน
ล่องเรือตามร่องสวน ชมต้นมะนาว มะพร้าว ส้มโอ มะละกอ อุโมงค์ไม้เลื้อย และพืชผักสวนครัวเก็บกินได้ตามใจชอบ แต่เดิมสวนฝั่งนี้เป็นสวนแบบเชิงเดี่ยว รายได้ ไม่ต่อเนื่อง พี่ไพศาลจึงหันมาทำแบบผสมผสานซึ่งสามารถผลิตผลผลิตได้ตามฤดูกาลได้ตลอด พี่ไพศาลได้คิดค้นการปลูกแบบผสมผสาน โดยใช้แนวคิดการปลูกแบบเกื้อกูลกัน มีพืชหลักของสวนฝั่งนี้คือ มะพร้าวกับส้มโอ มะพร้าวกับฝรั่ง มะพร้าวกับมะนาว และมีพืชอื่นแซมเข้ามาเรื่อยๆ
มะพร้าว เป็นพืชสารพัดประโยชน์ ใบให้ร่มเงา รากช่วยยึดดินคันร่องไว้ รากมะพร้าวช่วยดูดน้ำซับน้ำทำให้ดินแห้ง โดยธรรมชาติ รากส้มโอไม่ชอบดินแน่น ดินเหนียว แต่สภาพดินแห้งทำให้รากส้มโอ และมะนาว เดินหาอาหารได้สะดวก ทำให้บำรุงรักษาง่ายให้ผลผลิตที่ดี
ลำคลองอีกฝั่งหนึ่ง เป็นส่วนที่พี่ไพศาลภูมิใจนำเสนอกับการคิดค้น ทดลอง และดัดแปลงจากการไปศึกษาดูงานจากสถานที่ต่างๆ และนำมาปรับใช้ในที่ดินของตัวเองจนได้ผลที่ดี สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน แปลงนี้ พี่ไพศาลปลูกมะนาวกับละมุด ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด “ต้นไม้กอดกัน” พากันให้ผลผลิต
พี่ไพศาล วิเคราะห์ธรรมชาติของต้นไม้ทั้งสองชนิดให้ฟังว่า ต้นละมุด เป็นพืชที่มีความทนทาน ผลมีผิวสากกระด้าง ทำให้แมลงศัตรูพืชคือ เพลี้ยไม่ชอบ ใบไม่เป็นราง่าย เพราะมีความหนาและแข็ง รากต้นละมุดยังสามารถชอนไชดูดน้ำได้ดี ช่วยให้รากมะนาวมีทางเดินหาอาหารได้ดี จึงได้ผลผลิตที่ดีตามไปด้วย
หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องปลูกต้นละมุดกับต้นมะนาวติดกัน พี่ไพศาลให้คำตอบว่า กิ่งของต้นละมุดนั้น ช่วยค้ำกิ่งก้านของต้นมะนาวแทนการใช้ไม้ค้ำ ทำให้ประหยัดแรงและไม่เสียเวลาไป ตัดไม้จากป่ามาใช้ค้ำยันต้น ลดแรงงาน ลดเวลาในการดูแลรักษา แถมได้ผลผลิตที่ดีอีกต่างหาก
หากใครผ่านไปจังหวัดราชบุรี อย่าลืมแวะไปท่องเที่ยว “ วิถีคลอง วิถีไทยตามรอยเสด็จคลองดำเนิน ” ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางธรรมชาติให้เต็มปอด พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ล่องเรือชมบรรยากาศเงียบสงบและร่มรื่นด้วยแมกไม้ เก็บผลไม้รสอร่อยจากต้นด้วยมือคุณเอง เชื่อว่า คุณและคนที่คุณรักจะประทับใจทริปท่องเที่ยวธรรมชาติใกล้เมืองแห่งนี้อย่างแน่นอน