“สนธิรัตน์”เร่งยื่นของบกองทุนอนุรักษ์ฯ เม.ย.นี้ ดันงบ 1 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด-19
“สนธิรัตน์” มอบนโยบายสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เร่งรัดเปิดให้ยื่นของบกองทุนอนุรักษ์ 1 หมื่นล้าน ในเดือนเม.ย.นี้ เผยเลื่อนให้เร็วขึ้นจากเดิมเปิดเดือนพ.ค. 63 ทางด้านพลังงานจังหวัดขอนแก่น เผยมีหน่วยงานพร้อมยื่นของบโซลาร์สูบน้ำบาดาล 900 บ่อ หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน สถานีพลังงานชุมชนสร้างรายได้ชุมชน ล่าสุดร่วมเปิดขบวนรถพุ่มพวงนำผักสดและสินค้าบริโภคออกขายให้ประชาชน เล็งผลักดันปลูกผักปลอดสารพิษที่ใช้ระบบโซลาร์สูบน้ำที่ได้รับการส่งเสริมเข้าร่วมด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ไปดำเนินการเร่งรัดการเปิดให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นขอสนับสนุนเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น โดยให้เปิดยื่นเสนอโครงการภายในเดือนเมษายน นี้ จากเดิมที่กำหนดเปิดโครงการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อจะได้มีเม็ดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการมาให้สำนักงานบริหารกองทุนฯ พิจารณาจะมีบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประมาณ 3,000 ล้านบาท ตนจึงต้องการเร่งรัดที่จะให้เปิดโครงการเร็วขึ้นเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ และร่วมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร หรือโซลาร์สูบน้ำบาดาล
“ผมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงาน ประสานงานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาด้วยการขุดบ่อบาดาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่ประสบภัยแล้งประมาณ 20 จังหวัดแล้ว พร้อมกับได้มอบให้สำนักงานบริหารกองทุนฯ ปรับขั้นตอนทำงานในช่วงที่การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบต่อการเดินทางมาติดต่องบกองทุนฯ ด้วยการเปิดให้ยื่นแบบออนไลน์ได้ ซึ่งหากสามารถเร่งรัดได้เร็วขึ้นก็จะทำให้เงินส่วนนี้ออกไปช่วยจ้างงาน แก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
ด้านนายศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีโครงการด้านพลังงานที่จะเข้ามาสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ไปก็จะมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ภูผาม่าน กลุ่ม Quick Win ที่กระทรวงพลังงานมีกำหนดเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการได้ในวันที่ 17 เมษายน นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ด้วย ก่อนหน้านี้ ทางพลังงานจังหวัดได้เข้าไปเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น โดยการส่งเสริมการสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 100 ระบบ โดยสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินงานที่เน้นการตลาดนำการผลิต ผลลิตที่ได้มีทั้งส่งจำหน่ายตลาดในอำเภอและจังหวัด และในห้างฯเทสโก้โลตัส ห้างฯทอปซุปเปอร์มาเก็ต บริษัท ซีพีแรม จำกัด(ผู้ผลิตอาหารกล่องสำเร็จรูปจำหน่ายใน 7-11) เป็นต้น
โครงการสถานีพลังงานชุมชนเพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชนและแก้ปัญหาภัยแล้งด้วย ขณะนี้มีผู้สนใจ 3-4 แห่งที่จะยื่นของบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ยื่นขอติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้ต่อยอดด้านพลังงานในพื้นที่ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำ โรงอบแห้ง ห้องเย็น โรงคัดล้าง สำหรับกลุ่มปลูกผัก และปลูกมะม่วงเพื่อส่งออก เป็นต้น
โครงการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร หรือโซลาร์สูบน้ำบาดาล ซึ่งทาง อบต. ได้ยื่นแอดมินไว้แล้วเตรียมจะยื่นของบจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวนทั้งสิ้น 900 บ่อ
ล่าสุดพลังงานจังหวัดขอนแก่นได้ตอบโจทย์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับมายังภูมิลำเนาจังหวัดขอนแก่น โดยได้ร่วมเปิดตัวรถพุ่มพวงขายผัก ในโครงการ Khon kaen Smart Farming เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางพลังงานจังหวัดมีแผนที่จะได้นำผักปลอดสารพิษที่ได้รับการส่งเสริมจากการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาให้รถพุ่มพวงนำไปจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งต่อไปจะมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในห้องเย็นโซลาร์ โรงคัดล้าง และ Smart Farm ด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร
เปิดเผยว่า อบต.หนองแวง อ.พระยืน ได้ยื่นแอดมิน ส.กทอ. ไว้แล้ว และมีความพร้อมจะยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อนำไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อปลูกผัก จำนวน 20 ระบบด้วยกัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและช่วยให้ลดภาระของเกษตรกรที่มีต้นทุนค่าไฟเดือนละ 1 หมื่นบาท เหลือเพียง 1,500-2,000 บาทเท่านั้น