พลังงาน

โควิดระบาดกระทบราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ จับตาสงครามราคาซาอุฯ-รัสเซีย

สนพ. เกาะติดราคาน้ำมันในตลาดโลกรายสัปดาห์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่าราคายังทรงตัวระดับต่ำ พร้อมจับตาการทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุฯ และรัสเซีย เผยหลายประเทศทั่วโลกปิดเมืองสู้กับไวรัสโควิด ส่งผลกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ลุ้นการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก

​นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม –5 เมษายน 2563 พบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 22.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน

นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุฯ วางแผนเตรียมเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 10.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค. 63 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศลดลง ขณะที่ซาอุดิ อารามโค ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ 13 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิมที่ 12 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 22.91 หรียญสหรัฐเต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ข่าวเรื่องการเจรจากับ นายวลาดิเมียร์ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ ว่าอาจมีการพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงราว 10-15 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 10% ของอุปทานการผลิตน้ำมันดิบโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตน้ำมันที่ถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่กลุ่มโอเปกมีการเรียกประชุมฉุกเฉินในวันที่ 9 เดือนเม.ย. นี้

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซียลดลงตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.87 เหรียญสหรัฐ และ 20.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.38 และ 1.31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากอุปสงค์เบนซินจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มลดลง หลังเตรียมยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่จีนมีแนวโน้มส่งออกเบนซินเพิ่ม ขณะที่ความต้องการใช้เบนซินในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกปรับตัวลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

Insights Global รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุด 2 เดือนเม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.36 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.08 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 เดือนมี.ค. 63 เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 246.8 ล้านบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 36.28 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งอุปทานดีเซลในภูมิภาคที่มาจากอินเดียและเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ ความต้องการใช้ดีเซลของจีนในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 63 ปรับตัวลดลง จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรัฐบาลอินเดียประกาศสั่งปิดเมืองทั่วประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ดีเซล

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 33.0013 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.28 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.43 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.48 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.03 บาท/ลิตร

นายพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกปิดเมืองเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้น หลังซาอุฯ และรัสเซียประกาศทำสงครามราคาน้ำมันและเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 อย่างไรก็ตาม จับตาการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button