พลังงาน

เปิดทีโออาร์ 10 ข้อสุดหินโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ลุ้นยื่นข้อเสนอสิ้นเดือน เม.ย.นี้

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กลุ่ม Quick Win ขนาด 100 เมกะวัตต์ ปรับกำหนดยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐเป็นภายในสิ้นเดือนเมษายน นี้ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ทีโออาร์ให้สมบูรณ์ที่สุดในการคัดเลือกนักลงทุนและวิสาหกิจชุมชนเข้ามาขายไฟให้ภาครัฐ โดยมีทีโออาร์ 10 ข้อเป็นงานหินที่ผู้ประกอบการจะต้องฝ่าด่านการคัดเลือกท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อคว้างานเอามาไว้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยมุง รายงานว่า ในการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกผู้ขายไฟฟ้า (ทีโออาร์) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากลุ่ม Quick Win ครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้จัดทำขึ้นอย่างครอบคอบและรัดกุมมากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาฟ้องร้องที่จะตามมา เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบที่มีการกำหนดทีโออาร์ไว้ว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาจะคัดเลือกจากคะแนนที่ผู้เสนอผลตอบแทนให้ชุมชนสูงสุดตามทีโออาร์กำหนด ไม่ได้คัดเลือกจากดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารฯ ซึ่งคาดว่าจะมีทีโออาร์ที่เข้มข้นถึง 10 ข้อด้วยกันจากทั้งหมด ประกอบด้วย

1.สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ซึ่งในทีโออาร์กำหนดให้ผู้เสนอโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จะมีต้องใบอนุญาต รง.4 ลำดับที่ 88 ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) หรือไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จะต้องมีใบอนุญาต รง.4 ลำดับที่ 88 และลำดับ 89 ด้วย

นอกจากนี้ การประกาศใช้ผังเมืองใหม่ของแต่ละพื้นที่ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชนในหลายจังหวัด หลังจาก ม.44 ได้ประกาศยกเลิกไป ทำให้โรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ใบรับรอง รง. 88 ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ม. 44 ได้ให้อำนาจได้รับการยกเว้น

2.การคัดเลือกจะพิจารณาจากข้อเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 40 คะแนน และข้อเสนอไฟฟ้าด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน 60 คะแนน โดยคณะกรรมการบริหารฯ จะพิจารณาจากผู้ประกอบการที่เสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคและด้านผลประโยชน์คืนสู่สังคมที่ได้คะแนนมากที่สุด และในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้รับการคัดเลือกในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ ซึ่งจะต้องยื่นข้อเสนอผลตอบแทนชุมชนสูงสุด เพื่อให้ได้คะแนนสูงที่สุด การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผลประโยชน์หรือโครงการพัฒนาชุมชนที่จะต้องเสนอโรงไฟฟ้าจะเข้าไปมีส่วนยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นจากเดิม และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างไร ช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล ที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อยสด ผู้ประกอบการจะชี้ให้เห็นภาพว่า การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะช่วยลดการเผากลางแจ้ง ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้อย่างไร สร้างรายได้จากการขาย วัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไร

กรณีที่เป็นการปลูกพืชพลังงานขึ้นใหม่ เช่น หญ้าเนเปียร์ ไผ่ หรือ ไม้โตเร็ว จะบรรยายเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากพืชเกษตรที่ปลูกอยู่เดิมอย่างไร และช่วยลดพื้นที่เพาะปลูก พืชเกษตรที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ไปเท่าไร

3.การกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) แบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ สำหรับ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ Hybrid อัตราส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งผู้เสนอโรงไฟฟ้าชุมชนใช้เชื้อเพลิงไฮบริดจะได้รับคะแนนมากกว่าประเภทชีวภาพ และชีวภาพ เพราะมองว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะไปช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้ากับประชาชนทั้งประเทศให้ถูกลง

4.การเสนอเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิงในทีโออาร์กำหนดให้ผู้ยื่นขอโรงไฟฟ้าชุมชนต้องเสนอเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิงเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปีให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในกรณีวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจ ชุมชน สามารถจัดส่งเชื้อเพลิงป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80) และผู้ยื่นขอโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องระบุเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิงไว้ในสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ด้วย

5.การกำหนดสัดส่วนหุ้นบุริมสิทธิที่ให้แก่วิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 10% เพื่อต้องการให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมเหมือนเป็นเจ้าของ แต่ไม่ตอบโจทย์การเข้าไปมีหุ้นส่วนอย่างแท้จริงได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการนำวัตถุดิบของแต่ละวิสาหกิจที่ทำอยู่นำไปขายให้กับโรงไฟฟ้ารายอื่นได้

6.วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จะต้องมีสมาชิกรวมกัน ไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือนแล้วจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อนเพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน และหากสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดอยู่ภายในจังหวัดเดียวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะได้รับการพิจารณาคะแนนด้านเทคนิคมากกว่าด้วย

7.กรณีที่ผู้ประกอบการยื่นขอผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนมีคะแนนรวมเท่ากัน ในวงจรไฟฟ้าเดียวกัน จะใช้ลำดับ การยื่นคำขอมาเปรียบเทียบ โดยผู้ที่มีลำดับการยื่นคำขอก่อนจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน

8.กำหนดรับซื้อเชื้อเพลิงจากวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 80% และผู้ประกอบการปลูกเองอีก 20% ซึ่งการรับซื้อจากวิสาหกิจชุมชนจะต้องมีสัญญารับซื้อวัตถุดิบในราคาประกันในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contact farming) แต่อาจจะต้องรอสักระยะหนึ่งให้ชุมชนมีประสบการณ์และเกิดความมั่นใจในการปลูกวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าก่อน

9.กำหนดการจ้างงานภายในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อดำเนินงานในการควบคุมและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ นายช่างเทคนิค พนักงานแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมถึงตำแหน่งอื่นด้วยจะต้องระบุข้อมูลเงินเดือนด้วย และมีจำนวนบุคลากรกี่คน

10.ผู้ประกอบการจะต้องเสนออัตราเงินปันผลประจำปีที่จะให้กับวิสาหกิจชุมชนด้วย ซึ่งอัตราเงินปันผลประจำปีให้กับวิสาหกิจชุมชนเป็นไปตามข้อเสนอที่ระบุไว้ในสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement) ดังนั้น จะต้องมีการแบ่งเงินปันผลทุกปี ไม่ว่าการดำเนินธุรกิจจะขาดทุน หรือมีกำไร ต้องมีการแบ่งเงินปันผล เพียงแต่ปีไหนที่ขาดทุนสามารถยกยอดไปปีถัดไปได้

ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ได้เห็นชอบทีโออาร์แล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อออกประกาศให้ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ให้กับภาครัฐต่อไป
ก่อนหน้านี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้ขยับเปิดยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick Win จากเดิมวันที่ 17 เดือนเมษายน นี้ ออกไปเป็นภายในสิ้นเดือนเมษายน นี้ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับทีโออาร์ให้สมบูรณ์ที่สุด

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button