พลังงาน

สนพ. ชี้โควิดทำปาล์มราคาร่วงเหตุคนใช้ B100 น้อยลงและร้านอาหารปิดส่งผลน้ำมันปาล์มขวดยอดวูบ 40%

สนพ. ชี้ชัดๆ ช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อสถานการณ์ปาล์มดิบราคาร่วง เหตุยอดการผลิต B100 ลดไป 20-25% จากคนไม่ใช้รถยนต์กัน เช่นเดียวกับยอดขายน้ำมันปาล์มขวดก็ลดตามไปด้วย 30-40% เหตุร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดให้บริการ  แต่ยังดี “เอทานอล” ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยภัยแล้ง และนำไปทำแอลกอฮอล์เจล เผยช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย. มีปริมาณเอทานอลแปลงสภาพที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือมากกว่า 25 ล้านลิตร

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันชีวภาพ ในช่วงวันที่ 27 เม.ย.-3 พ.ค. 63 ที่ผ่านมามียอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40 % จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน ส่วนเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเดือนมี.ค. – เม.ย. มีปริมาณกว่า 25 ล้านลิตร

สำหรับสถานการณ์ราคาไบโอดีเซล หรือ B100 ราคาอ้างอิงวันที่ 27 เม.ย.- 3 พ.ค. 63 อยู่ที่ 25.26 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.77 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 20-24 เมษายน 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.70-3.00 บาทต่อ กก. ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.00 – 23.00 บาทต่อ กก. ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนโดยราคาวัตถุดิบลดลงไปจากสัปดาห์ก่อนถึงเกือบ 3 บาทต่อกก. ตลาดยังค่อนข้างผันผวนจากปริมาณการใช้ที่ลดลงและผลกระทบเนื่องจากไวรัส โควิด-19 ทำให้ปริมาณยอดการผลิตและการจำหน่าย B100 ลดกำลังการผลิตไปประมาณ 20-25% จากยอดขายเช่นเดิม จากความต้องการใช้รถส่วนบุคคล รถสาธารณะ และนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนในด้านการบริโภค ร้านอาหารต่างๆ ก็ยังปิดให้บริการ เหลือแต่บริการรับส่งอาหาร ทำให้การจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40 % จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน โดยราคาน้ำมันขวดขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 38 บาท ต่อลิตร ลดลงมา 2 บาท ต่อลิตร จากช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียยังคงซบเซา ประกอบกับรายงานตัวเลขส่งออกน้ำมันของจีนในเดือนมี.ค.63 ปรับเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศจีนที่ลดลง ในส่วนประเทศมาเลเซียเอง การส่งออกน้ำมันไบโอดีเซลลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 16.43 บาทต่อกก.

สำหรับปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. สำหรับผลิตไฟฟ้าเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีประมาณ 169,046 ตัน ส่วนสต๊อกน้ำมัน  B100 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 63 เหลือประมาณ 100.39 ล้านลิตร

ทางด้านสถานการณ์ราคาเอทานอลอ้างอิงเดือนเม.ย. 63 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67 บาทต่อลิตร จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และโรคใบด่าง ในขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังภายในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น รวมถึงราคากากน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปริมาณความต้องการใช้ในการขอนำเอทานอลไปทำเป็นแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดและแอลกอฮอล์เจลในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันโรงงานเอทานอล จำนวน 27 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.125 ล้านลิตร/วัน มีปริมาณการใช้เอทานอลในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ลดลงจากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลงตามไปด้วย ส่วนปริมาณเอทานอลแปลงสภาพที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือมีจำนวนกว่า 25 ล้านลิตร

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button