สนพ. ปรับตัวเลขคาดการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายลดลง 6% จากผลกระทบไวรัสโควิด
สนพ. ปรับคาดการณ์การใช้พลังงานปี 63 ลดลงทุกภาคเศรษฐกิจ โดยการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายปรับตัวลดลง 6.0% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักอย่างกะทันหันในขั้นรุนแรง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า ภาพรวมของการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ ลดลง 3.5% เป็นการลดลงของการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าจะขยายตัวประมาณ 1.5-2.5% ชะลอตัวลงจากปีก่อน ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล
สำหรับการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ลดลงร้อยละ 3.9% โดยเป็นการลดลงของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงถึงร้อยละ 16.2% จากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องปิดประเทศ และหลายสายการบินประกาศหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน ลดลง 38.0%
ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงในทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) มีการใช้ลดลงถึง 16.1% จากการที่ผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนกลับไปใช้น้ำมันเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก นอกจากนี้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุนจากประเทศจีน ที่ปิดโรงงาน ส่งผลให้การผลิตชะลอตัว รวมถึงปัญหาการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ประสบปัญหามีผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ถึง 45% มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 1.4% สำหรับภาคธุรกิจการใช้ไฟฟ้าลดลง 0.1% โดยกลุ่มธุรกิจหลักได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าจากการประกาศปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าโดยเปิดได้เฉพาะส่วนขอซุปเปอร์มาเก็ตและร้านอาหารกรณีซื้อกลับบ้าน และโรงแรมจากการชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามการใช้ในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 6.0% เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการทำความเย็นเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 1.0%
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการพยากรณ์การใช้พลังงานปี 2563 ที่ สนพ. ได้แถลงข่าวไปช่วงต้นปี 2563 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สนพ. ได้มีการปรับคาดการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2563 โดยใช้สมมุติฐานว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีการระบาดสูงสุดในไตรมาสที่ 2 เริ่มลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในไตรมาสที่ 4 ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักอย่างกะทันหัน ในขั้นรุนแรง โดยสามารถจำแนกผลกระทบตามภาคเศรษฐกิจได้ ดังนี้
1.ภาคขนส่ง (Transport) ได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่บ้าน (Work from Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด
- ภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากภาวะการระบาดในทั่วโลก ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า และการชะงักงันจากระบบการผลิตของ Supply จากทั่วโลก โดยเฉพาะการผลิตจากประเทศจีน
- ภาคครัวเรือน ทำให้เกิดจากการว่างงาน การขาดรายได้ และ Social Distancing
- ภาคการพาณิชย์ (Commercial) ได้รับผลกระทบจากการปิดแหล่งชุมชนและการค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง กิจกรรมสันทนาการ และร้านอาหาร เป็นต้น
- ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว การกักตัว 14 วันสำหรับ ผู้เดินทางทั้งในและต่างประเทศ การจำกัดการเดินทาง และการเกิดการระบาดอย่างหนักทั้งในจีน เกาหลี รวมทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และทวีปอเมริกา ตลอดจนประเทศต่างๆ ในอาเซียน และญี่ปุ่น ตลอดจนมาตรการป้องกันการระบาดในต่างประเทศ
ดังนั้น สนพ. คาดการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปี 2563 ปรับตัวลดลง 6.0% โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 6.3% คิดเป็น 134 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นการลดลงในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ดังนี้ ภาคขนส่ง การใช้น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 30.2 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 5.7% การใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 45.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.7% การใช้ LPG อยู่ที่ 883 พันตัน ลดลง 18.6% การใช้น้ำมันเครื่องบินปรับลดลงมากที่สุดถึง 12.7% หรือคิดเป็น 17.1 ล้านลิตรต่อวัน
ภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานอย่างหลากหลายชนิด ผลกระทบจากการระบาด COVID-19 ส่งผลต่อการใช้พลังงานที่สำคัญๆ ของภาคเศรษฐกิจนี้ได้แก่ น้ำมัน (ดีเซล และ LPG) ไฟฟ้า และถ่านหิน โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 2.4% คิดเป็น 10.0 ล้านลิตรต่อวัน การใช้ LPG ลดลง 5% การใช้ไฟฟ้าและการใช้ถ่านหิน ลดลง 5.0% และภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคการพาณิชย์ และภาคเกษตรกรรม ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นี้คาดว่า ผลกระทบหลักจะอยู่ที่ภาคการพาณิชย์และภาคครัวเรือน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมาจากรายได้ที่ลดลงจาก Social Distancing และการล็อคดาวน์ปิดเมือง ทั้งนี้พลังงานสำคัญที่ได้รับผลกระทบของภาคนี้ ได้แก่ น้ำมันดีเซล LPG และไฟฟ้า โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 3.6% คิดเป็น 9.3 ล้านลิตรต่อวัน การใช้ LPG ลดลง 3.9% การใช้ไฟฟ้าลดลง 8.5%
“สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ราคาก๊าซธรรมชาติ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าวปิดท้าย