สังคมไทยมุง

สถาปัตยฯ มจธ. คว้ารางวัลชนะเลิศเวทีโลก

ร่วมภาคภูมิใจกับนักศึกษาไทยในเวทีโลก ผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ชื่อผลงาน สถาปัตยกรรมเชื่อมความสัมพันธ์พหุวัฒนธรรมในหาดใหญ่ (Hat Yai Multicultural Bonding) คว้ารางวัลชนะเลิศระดับปริญญาตรี World’s most innovative graduation project of 2020 การแสดงผลงานโปรเจกต์จบของนักศึกษาทั่วโลกในด้านสถาปนิก สถาปัตยกรรม ผังเมือง และภูมิสถาปัตยกรรม จากการแข่งขัน Unfuse International Architecture Thesis Award (UnIATA 2020) โดยการแข่งขันรายการนี้เป็นหนึ่งในรายการที่มีชื่อเสียงระดับโลก สำหรับผู้ชนะในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นนักศึกษาจาก Harvard Graduate School of Design, USA

นางสาวสุทธหทัย นิยมวาส เจ้าของผลงาน “สถาปัตยกรรมเชื่อมความสัมพันธ์พหุวัฒนธรรมในหาดใหญ่” เปิดเผยว่า ผลงานนี้เป็นวิทยานิพนธ์โปรเจคจบวิชาเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ที่ได้ทุ่มเทเวลากว่า 1 ปี ศึกษาข้อมูลและออกแบบสร้างผลงาน สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับปริญญาตรี Winner-Worldwide Best Bachelor’s Thesis Project เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สาเหตุที่เลือกหัวข้อนี้เพราะเกิดและโตที่หาดใหญ่ มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนหาดใหญ่ จึงนำเอาวิชาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ออกแบบให้เข้ากับอัตลักษณ์และบริบทเมืองหาดใหญ่ได้มากที่สุด

หาดใหญ่เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมมีความหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน และชาวมุสลิมอาศัยอยู่รวมกัน แนวคิดการออกแบบมาจากพื้นที่จริงที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟและตลาดกิมหยงย่านการค้าที่สำคัญ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในตัวเอง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ศักยภาพและเสน่ห์เมืองหาดใหญ่ลดน้อยไป การออกแบบเริ่มจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชุมชนและทำแบบสำรวจจากคนในพื้นที่ ผลที่ได้คือผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าอาหารและการค้าขายเป็นจุดเด่นของเมืองหาดใหญ่ แต่ในทางกลับกันการไปจับจ่ายที่ตลาดในเมืองกลับไม่ค่อยนิยมแล้วในปัจจุบัน

สุทธหทัย อธิบายว่า เราสามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารได้ โดยเชื่อมโยงย่านชุมชนและย่านการค้าเอาไว้ด้วยกัน และจากการที่ได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนและคนในพื้นที่ ความต้องการที่จะ Re-identity เมือง อยากให้มีการสร้างสิ่งใหม่ สร้างวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยแนวความคิดว่า เราควรเริ่มจากการเข้าใจอัตลักษณ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน จึงออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้า และท่องเที่ยวได้เข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง เข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมผ่านอาหาร และสินค้าที่จำหน่าย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนนิทรรศการแทรกตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่จัดกิจกรรม Workshop ดึงดูดคนให้เข้ามาด้วยสิ่งที่เขาสนใจ แล้วค่อยนำเสนอสิ่งใหม่ และสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

อีกจุดเด่นหนึ่ง คือการวางผังและใช้สีในการออกแบบที่สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม สีสื่อความหมายทั้งในเชิงสัญลักษณ์และความรู้สึกได้เป็นอย่างดี การเลือกสีคนละเฉดมาใช้รวมกันและเข้ากันได้ จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้งานน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้เริ่มจากเห็นการปรับปรุงและระบายสีอาคารเดิมในหาดใหญ่เพื่อสร้างสีสันให้กับเมืองในมุมมองสถาปนิกเราเอาจุดนั้นมาใช้ในการออกแบบ

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เสริมว่า แนวความคิดการออกแบบนี้ เป็นทางเลือกทางพื้นที่โดยร้านค้าเดิมจะตั้งอยู่ที่เดิม พื้นที่ใหม่นี้จะเป็นพื้นที่สำหรับรุ่นลูกหลานร้านค้า ที่จะสามารถนำตำราอาหารเดิมมาพัฒนาเปิดในพื้นที่ใหม่ หรือเปิดสาขาเพิ่มเนื่องจากร้านเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมักมีลูกค้าจำนวนมาก และใช้เวลาในการรอนาน สถานที่นี้เป็นเหมือนการขยายโอกาสเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button