“คมนาคม” ชี้การแก้ไขปัญหาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
“กระทรวงคมนาคม” ชี้แนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ณ กระทรวงคมนาคม โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันทีและให้บริษัทหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สื่อสาร และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในหุ้น โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อยและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัท และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
กระทรวงคมนาคม เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหา ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะได้รับ หาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นคำขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูก่อนเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นต่อศาล ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาได้