พลังงาน

สนพ. เตือนแนวโน้มราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแล้ว ชี้ตลาด “ดูไบ-เวสต์เท็กซัส”ทะลุกว่า 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สนพ. ส่งสัญญาณเตือนแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันกลับมาแล้ว จากมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์บวกกับกลุ่มโอเปกพลัสจับมือกันแน่นลดกำลังการผลิตแล้วกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตลาดซื้อขายน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส พุ่งทะลุกว่า 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวันที่ 18 -24 พฤษภาคม 2563 โดยตลาดเริ่มเห็นความหวังที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบจะกลับมาสูงขึ้น จากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กลุ่มโอเปกพลัส มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามข้อตกลงร่วมกันที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะช่วยให้อุปสงค์การใช้น้ำมันและราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบในโลกที่ดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 33.17 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 6.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้น้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นนอกจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองแล้ว ทางกลุ่มโอเปกพลัสยังได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 เป็นต้นมา โดยลดกำลังการผลิตไปแล้วรวมกว่า 6 ล้านบาร์เรล/วัน การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก ณ สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. 63 แท่นเจาะลดลง 21 แท่น ลงสู่ระดับ 318 แท่น ต่ำสุดเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 5 ล้านบาร์เรล มาแตะระดับ 527 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 37.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 34.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 5.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ

International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 63 ลดลง 0.16 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.21 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์

Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. 63 ลดลง 0.64 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.75 ล้านบาร์เรล

สำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics : NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน เม.ย. 63 ลดลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) อยู่ที่ 2.84 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 39.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับปริมาณน้ำมันดีเซลในตลาดลดลง มีแนวโน้มการส่งออกไปภูมิภาคอื่นได้มากขึ้น การลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นและการปิดซ่อมบำรุงในเอเชีย ซึ่ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 63 ลดลง 0.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.14 ล้านบาร์เรล

ทางด้านสถานการณ์เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.20 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.0879 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.00 บาท/ลิตร ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.13 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.91 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.70 บาท/ลิตร

โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 24 พ.ค. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 57,718 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,857 ล้านบาท กองทุนน้ำมันมีเงินสุทธิ 34,861 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 41,107 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,246 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button