พลังงาน

สนพ. ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน จับตากลุ่มโอเปกพลัสประชุมต้นเดือน มิ.ย. นี้ และศึก “จีน-สหรัฐ” รอบใหม่

สนพ. จับตาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน จากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ การขยายเวลาลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งล่าสุดจะมีการจัดประชุมกลุ่มอีกครั้งในต้นเดือน มิ.ย. นี้ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ กำลังปะทุรอบใหม่

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ  และการขยายเวลาลดกำลังการผลิตกลุ่มโอเปกพลัส รวมทั้งโรงกลั่นในสหรัฐฯ หลายแห่งปรับเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ รอบใหม่ อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงระหว่างวันที่ 25 -31 พ.ค. 63 ที่ตลาดซื้อขายดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 34.09 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ

นายพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวลดลง ขณะที่ความต้องการใช้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ โดยนิวยอร์กซิตี้ ในสหรัฐฯ โดยจะเริ่มผ่อนคลายกับภาคธุรกิจ เฟสแรก ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โรงกลั่นในสหรัฐฯ หลายแห่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1.9% สู่ระดับ 71.3% บริษัท เบเกอร์ ฮิวจ์ ได้รายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 63 ลดลง 17 แท่น สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 301 แท่น ในขณะที่ของแคนาดาลดลง 20 แท่น ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเตรียมพิจารณาขยายระยะเวลาข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตลงราว 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 ออกไป โดยกลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมครั้งถัดไปในต้นเดือน มิ.ย. 63

ทางด้านราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซียนั้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 36.74  เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและ 33.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยจากแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียปรับลดจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

กรมศุลกากรของจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.68 ล้านบาร์เรล MoM  (+4.4%) อยู่ที่ 16.15 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม Platts คาดว่าจีนจะส่งออกในเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 4.25 ล้านบาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 39.97 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาจากปัจจัยแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อุปทานปรับตัวลดลง เช่น กลุ่มโรงกลั่นในเกาหลีใต้ คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดีเซลของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล QoQ อยู่ที่ 40 ล้านบาร์เรล เนื่องจากธุรกิจกลับมาดำเนินการและประชาชนกลับมาทำงานตามปกติแล้ว

Petroleum Association of Japan (PAJ) ได้รายงานด้วยว่า ปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 23 พ.ค. 63 ลดลง 0.43 ล้านบาร์เรล WoW อยู่ที่ 9.26 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.0680 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยต้นทุนเบนซินลดลง 0.10 บาทต่อลิตร และดีเซลเพิ่มขึ้น 0.16 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.13 บาทต่อลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.59 บาทต่อลิตร

นายพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบมีความผันผวน โดยมีปัจจัยหนุนราคาน้ำมันจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก และการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่มีแนวโน้มลดลงตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ซึ่งจะจัดขึ้นต้นเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อหามาตรการระยะสั้นที่ไม่กระทบต่อสมดุลตลาดรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยต้านจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุอีกครั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ในฮ่องกง โดยสหรัฐฯ ขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของฮ่องกง หลังจีนกำลังพิจารณาใช้กฎหมายควบคุมฮ่องกง ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจโดยภาพรวม

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button