พลังงาน

สัญญาณการใช้ “ไบโอดีเซล-เอทานอล”เพิ่มขึ้น สนพ. ชี้ปัจจัยมาจากดัน B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานและรัฐคลายล็อคดาวน์

สนพ. ส่งสัญญาณราคาไบโอดีเซลและเอทานอลเพิ่มขึ้น เผยเกษตรกรยิ้มร่าขายผลปาล์มขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3.40-3.70 บาทต่อกิโลกรัม จากนโยบายกำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ส่วนการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงได้อานิสงส์จากรถยนต์ออกมาวิ่งมากขึ้นเมื่อมีการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ แต่น่าเป็นห่วงปริมาณเอทานอลนำไปผลิตทำความสะอาดมือกลับลดลง

​นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า เมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคมร้อยละ 5.7 และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม ร้อยละ 11 จากมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานลดลง อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐที่กําหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ทำให้ตลาดยังเป็นของผู้ขายราคาจึงยังไม่ปรับลงในช่วงนี้

สำหรับไบโอดีเซล (B100) ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 26.15 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.99 บาทต่อลิตร โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน เมื่อช่วงวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 – 3.70 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 21.50-22.40 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อสิ้นเดือนเมษายน ประมาณ 282,511 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 103,566 ตัน ส่วนสต็อกน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ที่ 46,478 ตัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะอยู่ที่ระดับ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ตามลำดับ ลดลงร้อยละ 10.83 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคหลังจากได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19 ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) โดยกรมการค้าภายใน คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตันต่อเดือน สาเหตุจากความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลงจากมาตรการปิดพื้นที่ของรัฐบาล

ส่วนสถานการณ์ราคาเอทานอลอ้างอิงในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร โดยไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า

ทั้งนี้ จากการผ่อนคลายมาตรการการปิดพื้นที่ หรือ lockdown ของรัฐบาล จากการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในช่วงวันที่ 1-17 เดือนพฤษภาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตรต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.57 ล้านลิตรต่อวัน และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลิตจริงในเดือนเมษายน อยู่ที่ 3.46 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 1.03 ล้านลิตรต่อวัน และปริมาณเอทานอลที่บริจาคและจำหน่ายเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนก่อน 13.53 ล้านลิตร

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button