“ฟีโบ้” จับมือภาคเอกชนพัฒนา ‘MuM II’ หุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ หนุนบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จํากัด ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ Multi-functional Mobility: MuM II ถูกออกแบบและพัฒนาให้รองรับการทํางานหลากหลายหน้าที่ เพื่อเพิ่มประโยชน์ ด้วยหุ่นยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนโมดูลด้านบนได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ได้แก่ โมดูลฆ่าเชื้อด้วย UV-C การส่งอาหาร และจ่ายยาอัตโนมัติ MuM II ถูกพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
“MuM II” หุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ พัฒนาโดยฝ่ายอุตสาหกรรม และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฟีโบ้ ประกอบด้วย นายณัฏฐนนท์ ตรังรัตนจิต นายวสุพล วรวราชัย นายภวินท์พล ทองแดง และนายอัยการ สุธาพจน์ นักศึกษาได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งนักศึกษาได้รับโอกาสในการฝึกประสบการณ์ และทักษะจนสามารถพัฒนา MuM II ได้สำเร็จตามเป้าหมาย
ระบบการใช้งาน “MuM II”
- โมดูลฆ่าเชื้อด้วย UV-C
– Autonomous Mobile Robot รองรับการควบคุมทั้งแบบระบบส่วนกลางและแบบ Stand Alone มีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง แเละเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติ มีระบบยูวีสำหรับฆ่าเชื้อที่พื้นห้อง รับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม ระยะเวลาขับเคลื่อน 9-10 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (3.5 ชั่วโมง)
-UV Disinfection Robot ระบบฆ่าเชื้อ 360 องศา ระยะเวลาทำงาน 4-5 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (7 ชั่วโมง)
- การส่งอาหาร และจ่ายยาอัตโนมัติ Food/Medicine Dispensing Robot มีจอสำหรับแสดงข้อมูลอาหารในตู้และชื่อผู้ป่วย ช่องจ่ายอาหารและยาอัตโนมัติแยกตามชื่อและเตียงผู้ป่วย ป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายยา มีระบบส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการการจัดอาหารและยา มีแสงยูวีด้านในสำหรับฆ่าเชื้อถาดลิ้นชักอาหารเพื่อลดการปนเปื้อน ปรับความสูงและจำนวนช่องได้ตามขนาดของภาชนะ