พลังงาน

ตลาดน้ำมันมีแนวโน้มเข้าสู่สมดุลมากขึ้น “อิรัก-คาซัคสถาน” ยังลดกำลังการผลิตต่อ

สนพ. ชี้ตลาดน้ำมันมีแนวโน้มเข้าสู่สมดุลมากขึ้น “อิรัก-คาซัคสถาน” ยังลดกำลังการผลิตต่อหลังการคลายล็อคดาวน์ของหลายประเทศ หนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบยังมีความผันผวน โดยอิรักและคาซัคสถาน ยังคงร่วมมือจะลดกำลังจากการผลิตตามข้อตกลง จากมาตรการคลายล็อคดาวน์ของหลายประเทศหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่มีความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันที่เพิ่มสูงขึ้น

 

 

แนวโน้มราคาน้ำมันราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก แสดงความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดมากกว่า 10 ล้านคน และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นสูงสุดแตะระดับ 183,000 คน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากทวีปอเมริกามากสุด มีความกังวลการแพร่ระบาดระลอกสองในเกาหลีและจีน เนื่องจากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การคลายมาตรการล็อคดาวน์ของหลายประเทศหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส โดยเฉพาะอิรักและคาซัคสถาน ที่จะลดกำลังจากการผลิตตามข้อตกลง ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่สมดุลมากขึ้น

สำหรับราคาน้ำมันดิบช่วงวันที่ 22 -28 มิถุนายน 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.13 และ 39.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.32 และ 0.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

• ตลาดคาดความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังหลายประเทศเริ่มคลายล็อคดาวน์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีรายงานว่ายอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม แบเกอร์ ฮิวส์ อิงค์รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ณ วันที่ 26 มิ.ย. 63 ลดลง มาอยู่ที่ 265 แท่น

• คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบจะปรับลดลงในเดือน ก.ค. 63 จากข้อตกลงการลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส โดยเฉพาะอิรักและคาซัคสถานที่ยืนยันว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก ปริมาณการขนส่งและเดินทางยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมถึงกิจการต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินงาน ทำให้การบริโภคน้ำมันโดยรวมปรับตัวดีขึ้น

ส่วนราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 47.62 และ 45.51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.63 และ 1.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

• International Enterprise Singapore รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ณ วันที่ 24 มิ.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.49 ล้านบาร์เรล/วัน อยู่ที่ 3.59 ล้านบาร์เรล และสูงกว่าปริมาณการส่งออกเดือน พ.ค. 63 เฉลี่ยที่ระดับ 2.51 ล้านบาร์เรล/สัปดาห์ โดยรายงานปริมาณสำรองนํ้ามันชนิดเบา (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน, แนฟทา, แพลตฟอร์มเมต) เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ ณ วันที่ 24 มิ.ย. 63 ลดลง 0.29 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.95 ล้านบาร์เรล

• Insights Global รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 63 ลดลง 0.12 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 11.67 ล้านบาร์เรล

• ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจากอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับนักวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

ทางด้านราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

• IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเซล สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 63 เพิ่มขึ้น 33.8% มาอยู่ที่ 4.12 ล้านบาร์เรล

• Insights Global รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 63 ลดลง 0.91 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 20.61 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.15 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่เฉลี่ย 31.0975 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.08 บาท/ลิตร ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.04 บาท/ลิตร) ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.61 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.52 บาท/ลิตร

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 มิ.ย. 63 มีสินทรัพย์รวม 55,967 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,146 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 33,821 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 40,356 ล้านบาท  และบัญชี LPG -6,535 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button