ชีวิตไม่หวานหลังโควิด อุตฯ อ้อยและน้ำตาลทราย เร่งบริหารต้นทุนการผลิตรับมือความเสี่ยง เหตุการบริโภคน้ำตาลชะลอตัว
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เร่งบริหารต้นทุนการผลิตน้ำตาล รับมือภาวะราคาตลาดโลกตกต่ำ จากโควิด-19 ฉุดการบริโภคทั่วโลกชะลอตัว ชี้ไทยบริโภคน้ำตาลหดตัวลงร้อยละ 10 จากภาวะปกติ พร้อมจับมือชาวไร่สร้างความมั่นคงผลผลิตอ้อย ควบคู่การดูแลประสิทธิภาพการหีบอ้อยเพื่อให้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงสุด มั่นใจการต่อยอดจากอ้อย น้ำตาล และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปสร้างมูลค่าในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ช่วยสร้างความมั่นคงแก่อุตสาหกรรมฯ ในระยะยาว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563) มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่า อัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน
นอกจากนี้ ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล สร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ (ปี2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธันวาคม 2563
ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด
“หลายประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทยและอินเดียที่มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่พอเจอผลกระทบ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันตกต่ำ บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 หันมาเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมฯ โดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี รวมถึงการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และนำกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลของภูมิภาคนี้