ตลาดน้ำมันดิบแนวโน้มทรงตัว อุปทานเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงกลุ่มโอเปกพลัส เศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนปรับตัวดีขึ้น
ตลาดน้ำมันดิบแนวโน้มทรงตัว อุปทานเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงกลุ่มโอเปกพลัส ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดยตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหนุนจากข่าวดีเรื่องการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ แต่ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าปัจจุบันยังไม่ผ่านพ้นสภาวะเลวร้าย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงของ OPEC+ ที่จะลดกำลังการผลิตลงมาอยู่ที่ 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. 63 (ลดจากเดือน พ.ค.-ก.ค.63 ที่ระดับ 9.6-9.7 ล้านบาร์เรล/วัน) โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซียมีแผนจะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 63 รวมทั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียมีแนวโน้มจะกลับมาดำเนินการผลิตและส่งออกอีกครั้ง หลังหยุดชะงักนานกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ จำนวนหลุมขุดเจาะในสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ในช่วงหลังของปี 2563 หากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่า 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สำหรับราคาน้ำมันโลก น้ำมันดิบช่วงเดื อน มิ.ย.– 5 ก.ค. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.17 และ 39.86 เหรัยญสกรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.05 และ 0.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจทั่วโลกเดือน มิ.ย. มีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ ดัชนีกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 52.6 สูงสุดในรอบ 1 ปี และดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 75.7 รวมทั้งจีนที่เผยกำไรภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว
ด้านสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 26 มิ.ย. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 8.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 537 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.7 ล้านบาร์เรล ส่วน Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯปรับลดลงสู่ระดับ 265 แท่น ณ 26 มิ.ย. โดยในเดือน มิ.ย. ปรับลดลงรวม 36 แท่น เป็นการลดลง 4 เดือนต่อเนื่อง
ขณะที่ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.75, 43.50 และ 44.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.87, 2.01 และ 2.00 เกรัยญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย
ส่วนปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในภูมิภาคลดลง โดย International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองที่สิงคโปร์ ณ วันที่ 1 ก.ค. 63 เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.11 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Platts รายงานปริมาณสำรองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) ณ วันที่ 29 มิ.ย. 63 ลดลง 0.32 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 7.91 ล้านบาร์เรล
สำหรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.07 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดย IES รายงานปริมาณสำรองที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.ค. 63 ลดลง 0.54 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.41 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และ Platts รายงานปริมาณสำรองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ FOIZ ณ วันที่ 29 มิ.ย. 63 ลดลง 0.97 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 4.10 ล้านบาร์เรล
ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ระดับเฉลี่ย 31.1556 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.35 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.03 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.30 บาท/ลิตร (โดยมีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ อีก 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.39 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 5 ก.ค. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 56,275 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,647 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 33,628 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 40,243 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,615 ล้านบาท