ปตท. ต่อยอด “ท่ามะนาวโมเดล” ชุมชนใช้พลังงานทดแทนครบวงจร นำผลิตภัณฑ์ชุมชนขายที่ปั๊ม ปตท. และตลาดออนไลน์
ท่ามกลางปัญหาการเมืองกำลังวุ่นวายมีการกดดันให้ปรับ ครม. แต่ทาง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกขอพักการเมืองไว้ก่อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ โดยได้นำคณะ พร้อมผู้บริหารของกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ “จังหวัดลพบุรี” ไปเยี่ยมชมระบบผลิตและส่งก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ระดับชุมชน “ท่ามะนาวโมเดล” อบต. ท่ามะนาว ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด หรือระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร จากกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านกลายมาเป็นก๊าซชีวภาพส่งให้ครัวเรือนใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ก่อนจะกลายมาเป็น “ท่ามะนาวโมเดล” จุดเริ่มต้นมาจาก อบต. ท่ามะนาว เข้าร่วมโครงการ “รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง” ของ ปตท. เมื่อปี 2552 ต่อมาได้ขยายเข้าร่วมโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล ของกระทรวงพลังงาน ในปี 2558 มีการจัดเก็บข้อมูลเรื่องบัญชีครัวเรือน รายจ่าย ค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าใช้จ่ายพลังงาน ทำให้พบว่า มีค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้ม 1.6 แสนบาท ในปี 2554 และขยับขึ้นเป็น 4.7 แสนบาท ปี 2555 หรือขยับขึ้น 3-4 เท่าตัว จึงเกิดการระเบิดจากข้างในหาวิธีจะลดรายจ่ายก๊าซหุงต้ม ซึ่งจากากรศึกษาพบว่าในชุมชนท่ามะนาวมีฟาร์มสุกรอยู่ 20 แห่ง ขณะที่ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นมูลสุกร มีการร้องเรียน และขับไล่ฟาร์มให้ย้ายออกไป
พลิกวิกฤติชุมชนสู่พลังงานชุมชนที่ยั่งยืน
จึงเป็นที่มาการนำมูลสุกรมาทำเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตก๊าซหุงต้ม โดยได้ขยายจากดิมที่มีการใช้อยู่ในฟาร์มอยู่แล้ว 20% ที่เหลือ 80% ถูกปล่อยทิ้งไป โดยนำมาพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด หรือระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจะถูกกักเก็บและนำมาใช้ประโยชน์โดยส่งจ่ายไปยังชุมชนเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนในชุมชนแห่งนี้
เริ่มจากเฟสแรก สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 3 และ ปตท. ศึกษารูปแบบการจัดการตนเองด้านพลังงานตามแนวทางวิถีพอเพียง ผ่านโครงการ “ท่ามะนาวพอเพียง เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” ด้วยการสร้างต้นแบบระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรระดับชุมชน โดยนำร่องที่ฟาร์มมานพ 1 ทำการผลิต เดินท่อ และส่งจ่ายก๊าซชีวภาพให้ชาวบ้านหมู่ที่ 2 จำนวน 9 ครัวเรือน เริ่มใช้เมื่อปี 2556
หลังจากระยะแรกประสบความสำเร็จ จึงได้ขยายเฟส 2 เพิ่มจาก 1 ฟาร์มเป็น 4 ฟาร์ม มีศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพรวม 400 ลูกบาศก์เมตร ส่งจ่ายก๊าซชีวภาพผ่านท่อยาวกว่า 4 กิโลเมตร ไปยังครัวเรือน กลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ หมู่ที่ 2 รวม 111 ครัวเรือน
เฟส 3 มีฟาร์มเข้าร่วม 4 ฟาร์ม ระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาด 800 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ระบบ ขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ระบบ และขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ระบบ โดยวางท่อส่งจ่ายกีษซชีวภาพความยาวกว่า 9 กิโลเมตร ไปยังครัวเรือนกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ หมู่ที่ 1 ,6 และ 8 จำนน 206 ครัวเรือน ในปี 2561
เฟส 4 คัดเลือกฟาร์มสุกรเพิ่มอีก 4 ฟาร์ม โดยมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพ 100 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 บ่อ และขนาด 200 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 บ่อ และวางท่อส่งจ่ายก๊าซชีวภาพไปยังครัวเรือนกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ รวมทั้งหวัดและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 และ 7 จำนวน 130 ครัวเรือน ในปี 2561
เฟส 5 อบต. ท่ามะนาว วางระบบท่อส่งจ่ายก๊าซชีวภาพเพิ่มจาก ระยะที่ 3 ไปยังครัวเรือนกลุ่มผู้ช้ก๊าซหมู่ที่ 3 และ 5 จำนวน 50 ครัวเรือน ในปี 2561 ทำให้ตำบลท่ามะนาวสามารถนำก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรไปสู่ชุมชนได้ทั่วถึงทั้งตำบล รวมผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรกว่า 460 ครัวเรือน
การจัดการที่ดีหัวใจการแก้ปัญหา
“วสันต์ ดรชัย” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว กล่าวว่า ปัจจุบันท่อก๊าซมีระยะทางทั้งหมด 25 กิโลเมตร ครอบคลุม 8 หมู่บ้านในตำบลท่ามะนาว และได้วางกฎ กติกา การใช้ก๊าซชีวภาพ โดยเฟส 1, 2 และ 4 จะจ่ายก๊าซตั้งแต่เวลา ตี 5 ถึง 9 โมงเช้า และจ่ายอีกครั้ง 4 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม โดยเก็บค่าก๊าซแบบเหมาจ่าย เดือนละ 50 บาท บวกค่าบำรุงหัวเตาอีก 5 บาท
ส่วนเฟส 3 และ 5 ครอบคลุมอีก 5 หมู่บ้าน เนื่องจากมีปริมาณก๊าซเพียงพอสามารถจ่ายก๊าซได้ 24 ชั่วโมง เก็บค่าก๊าซแบบเหมาจ่ายเดือนละ 55 บาท ค่าบำรุงหัวเตาอีก 5 บาท ส่วนร้านค้าขายกับข้าว ร้านก๋วยเตี๋ยว เดิมจะใช้แก๊สอยู่เดือนละ 2 ถังๆ ละประมาณ 380 กว่าบาท แต่เก็บค่าก๊าซชีวภาพเพียง 100 บาท บวกค่าบำรุงหัวเตา 5 บาท ซึ่งกำไรจากการใช้ก๊าซชีวภาพในชุมชนอยู่ที่ปีละประมาณ 2 แสนกว่าบาท ได้จัดสรรกำไรคืนให้ฟาร์ม 25% เข้ากองทุน 35% ส่งเข้าเพื่อการสงเคราะห์สมาชิก 20% และตอบแทนกรรมการ 10% และคนเก็บก๊าซรายเดือน 10%
“เวลาระบบก๊าซมีปัญหาก็จะให้ช่างชุมชนที่เคยเข้าไปร่วมสร้างเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งจะมีช่างชุมชนสามารถซ่อมเองได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบบ่อหมัก ระบบสถานีจ่าย ระบบแนวท่อ เป็นการจัดการตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากหลายพื้นที่มีปัญหามักจะไปไม่รอดเพราะต้องรอจากหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น ปตท. หรือจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มาซ่อมให้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานกว่าจะมาซ่อมให้ต้องใช้เวลา แต่เราดูแลจัดการเองได้เบ็ดเสร็จ จึงทำให้ระบบเสถียรใช้ได้ตลอดเวลา”
“วสันต์” กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทาง อบต.ท่ามะนาว ยังมีรายได้คาร์บอนเครดิตด้วย โดยได้สมัครเข้าร่วมโครงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกภาคสมัคร จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยได้นำเฟส 1, 2 และ 4 เข้าร่วมโครงการเป็นปีที่ 4 ได้รับรองคาร์บอนเครดิตไป 1,651 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยลูกค้ารายแรกเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงบริษัทในเครือ ปตท. มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา เฟส 3 และ 5 ทาง อบก. ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว
“ในไทยมีการขายคาร์บอนเครดิตตันละ 200 บาท ปัจจุบันได้ขายไปแล้ว 3,178 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นเงินกว่า 7 แสนบาท ถ้าปีที่ 5 สามารถส่งได้ครบ 5 เฟส จะสามารถขายคาร์บอนได้ประมาณ 5,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยมีลูกค้าเยอรมนี ทำให้มีรายได้ปีละ 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งมากว่าขายก๊าซชีวภาพถึง 2-3 เท่าตัว โดยรายได้ส่วนนี้เราจะไม่นำเข้า อบต. แต่นำเอาเข้ากลุ่มวิสาหกิจ เพื่อใช้สำหรับซ่อมแซม การขยายงาน และพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการฯ ต่อไป”
ตัวอย่างชุมชนพึ่งพาพลังงานทดแทน
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว กล่าวด้วยว่า จังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่มีแสงแดดดีมาก จึงได้นำระบบโซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำประปาในหมู่บ้านส่งให้แต่ละครัวเรือน สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 70-80% โดยกลางวันจะใช้ระบบโซลาร์เซลล์ ส่วนกลางคืนจากใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติ รวมถึงไฟแสงสว่างก็จะใช้จากระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดด้วย
นอกจากนี้ ได้นำระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าแบบติดตั้งลอยน้ำ (Floating PV) ขนาด 2.48 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับสูบน้ำให้เกษตรกร ที่ส่งจ่ายให้กับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10 ไร่ โดยมีการปลูกผักปลอดสารพิษ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีตลาดรองรับส่งออกไปยุโรป และวางจำหน่ายที่โรงพยาบาล ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีพฤหัส หน้าอำเภอทุกวันศุกร์ และที่ปั๊ม ปตท. ทุกวันเสาร์
รวมถึงการใช้ระบบอบแห้งจากโซลาร์เซลล์ สำหรับอบแห้งเผือกและกล้วย โดยเฉพาะกล้วยตากแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ส่งป้อนการบินไทย รวมถึงมีการสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อมาใช้ประโยชน์ในชุมชนด้วย
ปตท. ต่อยอดสินค้าส่งถืงมือผู้บริโภค
ด้าน “น.ส.ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจาก ปตท. ได้เข้าไปสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนท่ามะนาวแล้ว เตรียมจะต่อยอดด้วยการนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ ปตท. มีอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “โครงการพลังงานสร้างไทย” ของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย 2 โครงการหลักๆ ได้แก่ Smart Farming และ Smart Marketing โดยเรื่องแรก Smart Farming จะมีการนำโดรน ของ ปตท.สผ. เข้าไปยกระดับช่วยเหลือเกษตรกรในการใส่ปุ๋ย สำรวจพื้นที่ การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ การใช้โรงเรือนเพาะชำจาก พีทีที จีซี
นอกจากนี้ จะได้นำโซลูชั่นทางด้านพลังงาน และโซลูชั่นเกี่ยวกับน้ำเข้าไปต่อยอดให้ชุมชน หลังจาก ปตท. ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ติดตั้เทคโนโลยีเครื่อง “ตะบันน้ำ” แทนการสูบน้ำจากไฟฟ้า โดยการประยุกต์ใช้ร่วมกับการสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อสามารถกักเก็บน้ำลงใต้ดินไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ส่วน Smart Marketing จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นำอุปกรณ์ พาราโพลาโดม สำหรับการอบแห้ง การออกแบบดีไซน์บรรจุหีบห่อให้ทันสมัย และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนไปวางจำหน่ายที่ “ไทยเด็ด” ในปั๊ม ปตท. รวมถึงช่องทาง E–Marketplace ของ ปตท. ด้วย
“น.ส.ดวงพร” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ ทาง ปตท. ได้หาช่องทางช่วยพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเบื้องต้นมีพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ในใจแล้ว 4-5 แห่ง อาทิ พื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย และ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นต้น
เล็งขยาย “ท่ามะนาวโมเดล” พื้นเศรษฐกิจ
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้มาเพื่อมาต่อยอดสิ่งที่ดีอยู่เดิมแล้ว ให้ครบวงจรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสอดรับกับนโยบาย Energy for All ที่ได้ประกาศไว้ในการนำพลังงานไปเป็นจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมิติชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เศรษฐกิจหลังวิกฤติไวรัสโควิดชุมชนอาจจะไม่ลำบากมาก ถ้าหากพลิกจุดแข็งของชุมชนขึ้นมา ยกตัวอย่างความสำเร็จ “ท่ามะนาวโมเดล” ถ้ามีพื้นที่ไหนทีมีความพร้อมในส่งเสริมสู่การใช้พลังงานทดแทนแบบนี้ทางกระทรวงพลังงานก็พร้อมสนับสนุนทางด้านงบประมาณอย่างเต็มที่ผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯ และงบประมาณของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
“จากที่ได้ดูงานในวันนี้ จะเห็นได้ว่ากระทรวงพลังงานได้พยายามพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานด้านพลังงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือการเห็นพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงการดำเนินงานด้านพลังงานจากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งนอกจากพ่อแม่พี่น้องจะมีรายได้จากการปลูกพืชเกษตรเพื่อส่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้จากการเป็นหุ้นส่วนของโรงไฟฟ้า เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมซึ่งผมเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานด้านพลังงานตาม นโยบาย Energy for all จะช่วยพลิกวิกฤติด้านเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด 2019” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว