ชี้ตลาดน้ำมันดิบยังทรงตัว แม้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีทิศทางดีขึ้น
สนพ. ชี้ตลาดน้ำมันดิบยังทรงตัว แม้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีทิศทางดีขึ้น แต่มีผลกระทบจากการปิดท่อน้ำมัน Dakota Access ที่สหรัฐฯ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศที่กำลังฟื้นตัว หลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ ตัวเลขการว่างงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service ISM) ของสหรัฐฯ มีคำสั่งซื้ออุตสาหกรรมของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานน้ำมันที่ลดลงตามข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส และการขนส่งน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่อน้ำมัน Dakota Access ซึ่งพาดผ่านทะเลสาบ Oahe ในรัฐเซาท์ดาโคตา ตามคำสั่งศาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 6-12 ก.ค. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 43.38 และ 40.46 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.20 และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 63 เพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 92.1 ล้านบาร์เรล/วัน ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง แม้โรงกลั่นสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการกลั่นบ้างแล้ว
Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับลดลง 4 แท่นสู่ระดับ 181 แท่น (ณ 10 ก.ค. 63) ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำสุดตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 52
สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ 47.84,45.40 และ 46.61 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.10,1.90 และ 1.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มีรายงานของ Platts ว่าปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 63 ลดลง 0.68 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.24 ล้านบาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ (ณ วันที่ 3 ก.ค. 63) ลดลง 4.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 251.7 ล้านบาร์เรล
ทางด้านราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาค และยุโรปปรับเพิ่มขึ้น โดย Platts รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่ FOIZ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ณ วันที่ 6 ก.ค. 63) ลดลง 0.24 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 3.85 ล้านบาร์เรล ส่วน Vortexa บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของอังกฤษรายงานปริมาณการเก็บสำรองน้ำมันดีเซลใน Floating Storage ทั่วโลก (ณ วันที่ 7 ก.ค. 63) อยู่ที่ระดับ 25 ล้านบาร์เรล ลดลง 46% จากช่วงกลางเดือน พ.ค. 63
ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.22 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่เฉลี่ย 31.3725 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.48 บาท/ลิตร ดีเซลเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.34 บาท/ลิตร (โดยมีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ อีก 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.48 บาท/ลิตร
ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 ก.ค. 63 มีสินทรัพย์รวม 56,706 ล้านบาท หนี้สิน 23,260 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 33,446 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 40,142 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,696 ล้านบาท