“โรงไฟฟ้าชุมชน” ความฝันกับความจริง
ในโอกาสที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้อำลากระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา ได้มอบหนังสือ “เปิดมิติพลังงาน เพื่อคนไทยทุกคน Energy For All” ที่เพิ่งตีพิมพ์เสร็จร้อนๆ จากสำนักพิมพ์มติชน โดยมี “ฐากูร บุนปาน” เป็นบรรณาธิการ มอบเป็นที่ระลึกให้กับทุกคนที่มาร่วมงานอำลาตำแหน่งครั้งนี้
น่าสนใจตรงการแก้ปัญหาความยากจนชาวบ้าน ในบทที่ 3 ได้เขียนถึงโรงไฟฟ้าชุมชนใช้หัวเรื่องว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน แก้จนชาวบ้าน” โดยมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
จากความตั้งใจจะทำให้ประชาชนคนไทยอยู่ดีที่มีสุขได้ด้วยพลังงาน ยุทธศาสตร์เชิงรุกที่วางไว้จึงเคลื่อนไหวที่ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
จาก B10 สู่ E20
ก้าวต่อไปคือ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”
นโยบายเปลี่ยนจากการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มาเป็น “โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก” ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และยังขาดแคลนไฟฟ้าใช้
นโยบายที่นำศักยภาพของชุมชนมาเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับรายได้ ลดรายจ่ายประชาชนในระดับฐานราก และสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจพลังงานมากที่สุด และทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความหวังที่จะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าโดยชุมชนมีมีส่วนร่วม ที่ผลิตเอง ใช้เอง และส่งจำหน่าย โดยประชาชนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ได้รับผลตอบแทนทั้ง “ทางตรง” และ “ทางอ้อม”
“ทางตรง” คือ ชุมชนจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอง ชุมชนจะมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และชุมชนจะลดภาระค่าใช้จ่ายและมีส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น
“ทางอ้อม” คือ ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายเศษวัสดุทางการเกษตร อย่างแกลบ ฟางข้าว ต้น-ใบ-ชาน-กากอ้อย ตัน-ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงาน เช่น ไม้โตเร็ว หญ้าเนเปียร์ ให้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
เป็นการสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก แก้ปัญหาได้หลายเปลาะในเวลาเดียวกัน
แก้ทั้งความเหลี่ยมล้ำรายได้ประชาชน
แก้ทั้งปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
แก้ทั้งมลพิษทางอากาศจากการเผาทำลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
เกิดการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน
ลดการย้ายถิ่นฐานและการเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ช่วยให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
โครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” นี้จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ต่อโรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
ในโครงการนี้ ภาครัฐจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff แบ่งเป็น 4 เชื้อเพลิง ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงไฮบริดระหว่างชีวมวล ชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย-พืชพลังงาน) รวมกับพลังงานแสงอาทิตย์
คำถามที่ตามมา คือ จะเอาเงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนมาจากไหน?
การบริหารจัดการในฐานะเจ้าของโรงไฟฟ้าจะต้องทำอย่างไร?
ชุมชนจะมีรายได้หรือผลตอบแทนเท่าไหร่ และอย่างไร?
ไฟฟ้าที่ได้นี้จะเอาไปขายใคร?
ฯลฯ
สารพัดคำถามนี้มีคำตอบอยู่ที่ 3 กลุ่มหลักที่ต้องประสานการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน
ประสานแรกคือ “กลุ่มผู้เสนอโครงการ” เป็น “กลุ่มเอกชน” หรือ “เอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ” ทำหน้าที่เป็น “ผู้ลงทุน” บริหารจัดการสรรหาเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และ “ดำเนินงาน” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 60-90%
ประสานสองคือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือนจะเป็น “ผู้จัดหาเชื้อเพลิง” ป้อนโรงไฟฟ้า และทำหน้าที่ “ควบคุม” ดูแลคุณภาพและสิ่งแวดล้อมจากการลดการเผาเศษวัสดุหรือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 10-40%
ประสานสาม คือ “ภาครัฐ” โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นตัวแทนเป็นผู้ “รับซื้อ” ไฟฟ้าที่ผลิตได้มาบริหารจัดการและจำหน่าย
มีการคาดหมายว่า ภายในระยะเวลาอันใกล้จะมีการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2563
ด้านผลตอบแทนนั้นชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับหลายช่องทาง
ส่วนแรก – รายได้จากส่วนแบ่งการขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วยในอัตราตามที่รัฐบาลกำหนด
ส่วนที่สอง – รายได้จากการถือหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นับตั้งแต่เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้า (หรือตามที่รัฐบาลกำหนด)
และส่วนที่สาม – รายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าจะประกันราคารับซื้อด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย
ราคาที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้านั้นจะเป็นไปตาม “มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน” แบบที่เรียกว่า Fit (Feed-in-Fariff) ที่อัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (20 ปี) ทำให้มีราคาที่ชัดเจนและเกิดความเป็นธรรม
ส่วนราคารับซื้อที่กำหนดไว้มีหลากหลาย เช่น
ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ราคา 2.90 บาทต่อหน่วย
ไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิตน้อยกว่า หรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ ราคา 4.8482 บาทต่อหน่วย ถ้ามากกว่า 3 เมกะวัตต์ ราคา 4.2636 บาทต่อหน่วย
ไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย หรือขยะ ราคา 3.76 บาทต่อหน่วย ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพืชพลังงาน 100% ราคา 5.3725 บาทต่อหน่วย
แต่ถ้าเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากการผสมผสานระหว่างพืชพลังงานและของเสีย ราคาจะอยู่ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย
สำหรับพื้นที่พิเศษอย่างจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จะได้เพิ่มราคาให้อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง
นับได้ว่าจะเป็นรายได้ที่มีความแน่นอนตามปริมาณการผลิต และเป็นผลตอบแทนที่การันตีได้ตามระยะเวลาของโรงไฟฟ้า
หากชุมชนหนึ่งมีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ มีระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี
สร้างเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจชุมชนตลอดอายุโครงการได้ประมาณ 280 ล้านบาท
ตัวเลขที่ว่านี้คิดจากเงินหมุนเวียนจากพืชพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงราว 10 ล้านบาทต่อปี
เกิดกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปี
การสนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่อีกราว 2.4 ล้านบาทต่อปี
และยังมีรายได้จากเงินปันผลจากโรงไฟฟ้าอีกราว 2 ล้านบาทต่อปี
หากเกษตรกรปลูกพืชพลังงานได้ผลผลิตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เกษตรกรจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกราว 5 ล้านบาทต่อปี
การดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ระยะแรกจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าของโครงการ Quick Win ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วหรือใกล้แล้วเสร็จเข้ามาร่วมโครงการ มีการตรวจสอบความพร้อมของสายส่งไฟฟ้า และพื้นที่รองรับโครงการได้ทั่วประเทศ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ระยะถัดไป เป็นโครงการทั่วไป หรือโครงการก่อสร้างใหม่ จะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 700 เมกะวัตต์ (ปริมาณที่รับซื้อจากโครงการ Quick Win) หลังจากพิจารณาโครงการ Quick Win เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีการเดินหน้าทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก “แม่แจ่มโมเดล” ที่โรงเรียนบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลไร้ควัน โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ขับเคลื่อน
ชุมชนที่นับจากนี้ไปจะ “เสก” เศษวัสดุทางการเกษตรให้เป็น “เงิน” และ “ไฟฟ้า” ได้ถึง 2-3 เมกะวัตต์
ต้น-ซังข้าวโพดที่มีมากปีละ 90,000 ตัน จะไม่ต้องถูกเผาทำลายทิ้งจนเป็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แต่จะกลายเป็นต้นทางของเชื้อเพลิงชั้นดีที่ป้อนผลิคไฟฟ้าทั้งรูปแบบชีวมวล และชีวภาพ (Gasification)
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการทำโรงไฟฟ้าชุมชนควบคู่ไปกับ “ศาสตร์พระราชา” โคก-หนอง-นา จะยิ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนฐานรากแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ และการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ได้ในเวลาเดียวกัน
แผนต่อเนื่องคือ สร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดูแล
รวมไปถึงแผนที่จะปลุกทุกชีวิตรอบเขื่อนทุกเขื่อนด้วยโรงไฟฟ้าชุมชน
เรียกว่านับตั้งแต่นี้ต่อไปทุกพื้นที่ในประเทศไทยไม่เพียงจะ “โชติช่วงชัชวาล” แต่ยัง “สว่างไสว” ไปทั้งแผ่นดิน
ยุทธศาสตร์พลังงาน Energy for All ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคงจากฐานรากและยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ “เทรนด์โลก” ที่มี “ไฟฟ้า” เป็นพลังงานหลักของโลกในอนาคต
โอกาสทางธุรกิจต่อไปจึงไม่ได้ขีดวงจำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น หากขยายวงออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียน
เป็นการทำงานที่รุดหน้า ที่ได้รับการยกย่องว่า “เป็นเลิศ” ในระดับภูมิภาค
เส้นทางในการนำ “ทีม” ประเทศไทยสู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน อยู่ไม่ไกลเกินฝันแล้ว
………………………………………………
แนวคิดข้างต้นเป็นโมเดลที่นายสนธิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ “สร้างฝัน” ออกแบบไว้เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทย
แต่ “ความจริง” ตอนนี้โรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Rev. ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบ ครม. แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าเรื่องดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้เสนอยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. แล้วก็ตาม
เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป จะมีการปรับ ครม. เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ต้องรอดูนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ว่าจะมีทิศทางขับเคลื่อนอย่างไรกับเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 700 เมะกวัตต์ ที่จะดำเนินการระหว่างปี 2563-2564
ต้องจับตาอย่ากะพริบกันเลยทีเดียว
แต่โชคดีที่โรงไฟฟ้าชุมชนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี และยะลานั้น นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า เป็นโปรเจกต์นำร่องสามารถเดินหน้าต่อไปได้เลย !!