10 วิสาหกิจชุมชนยื่นหนังสือ “วิษณุ” รักษาการ รมว. พลังงาน เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน
วิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง ยื่นหนังสือ “วิษณุ” รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ ชี้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 24,000 บาทต่อปีตลอดสัญญา 20 ปี เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าทุกเดือนที่ 5 แสนบาท “ม.ร.ว.วรากร” เผยเล็งยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ช่วยผลักดันโครงการด้วย
วันนี้ (23 ก.ค. 63) เวลาประมาณ 13.30 น. ประธานวิสาหกิจชุมชนและตัวแทนรวม 8 แห่งจากทั้งหมดในกลุุ่ม 10 แห่ง ได้เดินทางมาจากพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อาคาร ENCO เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 700 เมกะวัตต์ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีนายอดิศักดิ์ ชูสุข ผู้อำนวยการสำนักรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้เดินทางมารับหนังสือแทน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากด้วย
สำหรับการออกมาแสดงจุดยืนให้กระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแท้จริงและจับต้องได้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า,เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน, ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า, กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชนที่จะได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าในโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากราชการเลย ซึ่งประเมินขั้นต่ำราว 120 ล้านบาทสำหรับโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี หรือ 500,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี
ม.ร.ว. วรากร วรวรรณ ในฐานะประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก ( ปม.) เปิดเผยว่า ทางวิสาหกิจชุมชนได้ออกมาแสดงจุดยืนให้กระทรวงพลังงานในช่วงที่นายวิษณุ รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไปทันที เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจระดับชุมชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้จาการปลูกหญ้าอยู่ที่ 24,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งจะใช้งบอยู่ที่ 240 ล้านบาท และคืนทุนภายใน 10 ปี อีก 10 ปีที่เหลือก็สามารถสร้างกำไรได้
ม.ร.ว.วรากร กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไปด้วย เพราะไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่ทำโครงการนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้ยืนยันว่า การออกมายื่นหนังสือครั้งนี้วิสาหกิจชุมชนทั้ง 10 แห่ง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือสนับสนุนว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนไหน เพียงแต่มีความต้องการจะให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ดำเนินการต่อไปตามแผนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่แล้วได้วางไว้ ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนของเราแม้จะไม่ได้รับการคัดเลือกก็จะไม่เสียใจ ขอให้มีโอกาสได้เข้าแข่งขันเมื่อเปิดประกาศให้มีการยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนเท่านั้น
ม.ร.ว. วรากร กล่าวด้วยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออกเป็นดำริของกรมป่าไม้ในการจัดตั้ง เพื่อทำการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ช้างไม่กินและที่ช้างกิน อีกทั้งส่งเสริมการปลูกหญ้าเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ประสบคชภัยช้างป่าบุกรุกพื้นที่ สามารถให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
อนึ่ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) รวมตัวจากเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและคนชั้นกลางที่มีใจอยากจะช่วยแก้ปัญหา มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินในการเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อความก้าวหน้าในเรื่องการแปรรูปสมุนไพรเชิงพานิชย์ การมีหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโอกาสอย่างยิ่งในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีทุนหมุนเวียนพร้อมการลงทุน
ด้านนางนฤชล พฤกษา ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพตลาดไทร จ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า อ.ชุมพวง เป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็ยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และทำไร่อ้อย ขาดทุนจากการประกอบอาชีพซ้ำซาก มีความหวังที่จะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าชุมชน มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 290 คน และได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองคู่ อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกหญ้า และร่วมกันส่งหญ้าเพื่อสร้างมั่นใจกับโรงไฟฟ้าที่จะมาตั้งในอนาคต
นายธนพงษ์ เนื่องนา ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงโคเนื้อ ต.หนองบัว อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มวิสาหกิจมีสมาชิกอยู่ 25 คน ซึ่งมีการปลูกหญ้าเนเปียร์อยู่คนละ 5 ไร่ เพื่อเลี้ยงวัวและขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวนมอยู่ที่ 800-900 บาทต่อตัน ถ้าหากโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นเกษตรกรมีความพร้อมขยายการปลูกหญ้าเนเปียร์ให้ได้คนละ 10 ไร่ จาก 200 ครัวเรือน โดยราคาอยู่ที่ 500 บาทต่อกิโลกรัมชาวบ้านก็พอใจแล้ว เพราะราคามีความแน่นอนจากการทำสัญญาขายหญ้าเนเปียร์ให้กับโรงไฟฟ้าตลอด 20 ปี
ด้านนายนิกร จันทสา กลุ่มวิสาหกิจนาปรังเสรีพัฒนา ต.นาทราย อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวอยู่ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีปริมาณหญ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการเลี้ยงวัวเยอะมาก แต่ก็ยังเห็นว่าราคามีความไม่แน่นอน ถ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นเกษตรกรถึงจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ที่ยั่งยืนเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าตลอด 20 ปี นอกจากนี้ หญ้าเนเปียร์ยังมีราคาดีกว่าสินค้าเกษตรหลายชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ทางวิสาหกิจุชมชนจึงสนับสนุนให้กระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป
นายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว โดย ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงว่าทางชุมชนบ้านเชียง เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมมากว่า 5000 ปี มีการแบ่งและควบคุมพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงออกเป็น 3 วง เพื่อรักษามรดกโลกไว้อย่างหวงแหน ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจับสรรพื้นที่รอบนอกในการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า และนำรายได้จากส่วนแบ่งมาช่วยรักษามรดกโลกไว้อีกทางหนึ่งด้วย