“ดีไอทีพี”จับมือ“เอ็นไอเอ”ดันสตาร์ทอัพไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เร่งผลักดันสตาร์ทอัพไทยในรายสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การบริการและการท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมชี้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เนื่องจากมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และพฤติกรรมผู้บริโภคมีความคล้ายคลึงกับไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่พบในการก้าวสู่ตลาดต่างชาติของสตาร์ทอัพไทยคือ “การพิชชิ่ง” ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ดำเนินโครงการ “Pitch2Success : สานฝันสตาร์ทอัพไทยสู่สากล” เพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว พร้อมผลักดันผู้ที่เข้าร่วมโครงการไปสู่เวทีพิชชิ่งระดับนานาชาติ “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2019” ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ กรมฯ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันกลุ่มดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในรายสาขาที่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การบริการและการท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ เทคโนโลยีการเกษตร อาหาร ฯลฯ ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมฯ ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าไปยังต่างประเทศอยู่แล้วนั้น จึงมีนโยบายการสร้างกลไกการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมีประชากรสูงถึง 600 ล้านราย โดยตลาดที่น่าสนใจในการขยายธุรกิจสตาร์ทอัพคือ ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน รวมถึงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สามารถผลักดันให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการอาศัยความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกับไทย โดยเฉพาะในด้านการบริการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น บริการด้านการขนส่งและการเดินทาง บริการด้านการเงิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบันเทิง บริการด้านการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อตอบสนองการทำเกษตรกรรมที่ถือเป็นอาชีพพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน
นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตในต่างประเทศ ได้แก่ 1. กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ด้วยหลักสูตร การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ในบริบทการค้ายุคดิจิทัล ทั้งด้วยองค์ความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจ การทำพรีเซนเทชั่น (Pitch Deck) เทคนิคในการนำเสนอที่จะดึงดูดนักลงทุน (Pitching) เป็นต้น
2.การเข้าร่วมกิจกรรมงานแฟร์ : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ (สพบ.) จะเป็นหน่วยงานของกรมที่จะต่อยอดและนำพาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเข้าสู่เวทีโลก อาทิ งานแฟร์ในต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ จะสามารถขอรับเงินทุนสนับสนุนได้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านโครงการ SME Pro-active สำหรับสตาร์ทอัพ
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า ภายใต้นโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาล NEA ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ และการฝึกปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเติบโตได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้วยการสนับสนุนเรื่องการระดมทุน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรม งานวิจัย และเทคโนโลยี การต่อยอดสู่เวทีต่างๆที่สามารถผลักดันให้สตาร์ทอัพก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นต้น
นายนันทพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ทักษะด้านหนึ่งที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยยังขาดก็คือ “การพิชชิ่ง” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดใจนักลงทุน ให้เข้ามาร่วมลงทุนและให้ความช่วยเหลือต่างๆสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีทั้งการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร ทักษะการนำเสนอ การตั้งคำถาม – คำตอบระหว่างผู้นำเสนอและผู้รับฟัง การสร้างเนื้อหา (Content) ที่จำเป็นสำหรับการพิชชิ่ง ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นองค์กรหลักเจ้าภาพหลักด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพของประเทศ ดำเนินโครงการ “Pitch2Success : สานฝันสตาร์ทอัพไทยสู่สากล” เพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว พร้อมมุ่งให้ความรู้ในการนำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจสตาร์ทอัพ (Pitching) ในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่เวทีการค้านานาชาติได้ง่ายขึ้น
โครงการดังกล่าวได้มีการเชิญวิทยากรที่มากด้วยความสามารถและประสบการณ์มาให้ความรู้แก่สตาร์ทอัพทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 40 ราย อย่างใกล้ชิด เช่น คุณสุรวัฒน์ พรหมโยธิน ผู้มากประสบการณ์จาก Silicon Valley คุณพงศธร ธนบดีภัทร ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Refinn คุณสิทธิกิตติ์ รวิวีรวรรณ ผู้พัฒนาระบบจองคิว QueQ ฯลฯ ซึ่งภายหลังจากการเรียนและเวิร์คช็อป จะมีการให้ พิชชิ่งจริงกับคณะกรรมการ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 10 ราย จะได้ไปแข่งขันการพิชชิ่งเพื่อรับการระดมทุนจากนักลงทุนในเวทีสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2019 ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัพอีเว้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ทั้ง 40 รายที่เข้าร่วมโครงการ Pitch2Success ยังจะได้รับสิทธิ์ไปออกบูธในงานเดียวกัน เพื่อแสดงศักยภาพและความน่าสนใจของธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนและต่อยอดด้านต่างๆในลำดับต่อไป
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาสตาร์ทอัพไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีสัดส่วนที่เยอะมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบัน NIA มีจำนวนสตาร์ทอัพที่ร่วมพัฒนาภายใต้โปรแกรม Startup Thailand ประมาณเกือบ 2,000 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสตาร์ทอัพไทยยังมีจำนวนน้อยที่มีโมเดลธุรกิจที่มีความเป็นนานาชาติและความเป็นสากล สวนทางกับนักลงทุนที่เป็น Corporate Venture ที่มีทั้งปริมาณและเม็ดเงินจำนวนมาก จึงทำให้ไม่สามารถร่วมลงทุนกันได้ ทั้งนี้ จึงจำเป็นจะต้องสนับสนุนความเป็นสากลกับสตาร์ทอัพไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับบริบทการค้าและผู้บริโภคในระดับโลก พร้อมทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป
สำหรับการส่งเสริมด้านดังกล่าวของ NIA นั้น ในระยะแรกจะมีการเชิญชวนสตาร์ทอัพที่เป็นต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน และทำธุรกิจในไทย ซึ่ง NIA จะอำนวยความสะดวกทั้งด้านการจัดตั้งบริษัทและพื้นที่การดำเนินธุรกิจ (landing pad) สมาร์ทวีซ่า ศูนย์บริการที่เป็น One Stop Service ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี และ Global Hub ที่ Chiang Mai & CO จ.เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนตามแนวทางข้างต้นมั่นใจว่าจะทำให้สตาร์ทอัพไทยเข้าใจมาตรฐานการทำสตาร์ทอัพระดับนานาชาติ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี และแนวคิดที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสินค้าและบริการที่มีอยู่ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดการแข่งขันสตาร์ทอัพในระดับอาเซียนปี 2019 คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและการระดมทุนในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตแล้ว ตัวอย่าง เช่น Grab (แกร็บ) และ Gojek (โกเจ็ก) หรือ ที่รู้จักกันในนาม Get (เก็ท) จากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ในกลุ่ม Deep Technology เช่น เอไอ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า ไอโอที สตาร์ทอัพด้านเกษตรกรรม อาหาร การท่องเที่ยว เทคโนโลยีการแพทย์ รวมทั้งสมาร์ทซิตี้ หรือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ถือว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขันและโอกาสเติบโตสูง ส่วนสตาร์ทอัพที่การแข่งขันเริ่มมีปริมาณมากและคาดว่าจะล้นตลาดคือกลุ่มโมบายล์แอปพลิเคชั่น ซึ่งทางรอดคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และเน้นให้เกิดความเร็วทันใจมากที่สุด