เผยธนาคารพร้อมปล่อยกู้โครงการสินเชื่อประมง 10,300 ล้านบาท
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย แถลงข่าว ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงความก้าวหน้าของโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,300 ล้านบาท โดยจากข้อมูลของกรมประมงล่าสุด (10 ส.ค.63) มีชาวประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จาก 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 2,601 ราย จำนวนเรือประมง 3,129 ลำ รวมวงเงินสินเชื่อราว 4,204 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมรับเอกสารขอกู้จากชาวประมงผู้ที่มีเรือขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอสได้ตั่งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา และ ธนาคารออมสินพร้อมรับเอกสารขอกู้จากชาวประมงผู้ที่มีเรือขนาดมากกว่ากว่า 60 ตันกรอสได้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมนี้
สำหรับรายละเอียดนั้น นายอลงกรณ์ ได้เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง โดยเปิดรับสมัครผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะเปิดรับสมัครต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นั้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 10 ส.ค. 63 มีผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ โดยแบ่งเป็นเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ขอกู้ผ่านธนาคาร ธ.ก.ส. จำนวน 2,310 ราย เรือ 2,702 ลำ วงเงินราว 2,434 ล้านบาท และเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ขึ้นไป ขอกู้ผ่านธนาคารออมสิน จำนวน 291 ราย เรือ 427 ลำ วงเงินราว 1,770 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ โดยกรมประมงร่วมหารือกับ ธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจ จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อผู้ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการฯ จัดส่งให้แก่ธนาคาร ซึ่งขณะนี้ได้จัดส่งข้อมูลให้แก่ธนาคารทั้ง 2 แห่งแล้ว ส่วนข้อมูลที่ยื่นเข้ามาใหม่ สำหรับชาวประมงที่ได้ยื่นความต้องการเข้ามาใหม่เพิ่มเติม ทางกรมประมงจะเร่งดำเนินการส่งรายชื่อให้แก่ธนาคารภายในวันจันทร์ของสัปดาห์ถัดไปเพื่อเร่งดำเนินการอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ชาวประมง เพื่อการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการขับเคลื่อนฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพธุรกิจประมงที่ซบเซา และต้องผ่านพ้นวิกฤตินานัปการ สามารถกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ฟื้นฟูประเทศไทยหลัง COVID-19