โรงงานน้ำตาล เสนอแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้
โรงงานน้ำตาล ชูแนวคิดแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูหีบปี 2563/64 ภายใต้หลักการ ‘ชาวไร่ทำดีต้องได้ดี’ สร้างการมีส่วนร่วม และแรงจูงใจเพื่อลดอ้อยไฟไหม้ เชื่อส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบ ดันยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยได้ดึขึ้น โดยส่งสัญญาณราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผ่านการช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมหักเงินอ้อยไฟไหม้เข้าหีบอีก 30 บาทต่อตัน นำมาเฉลี่ยจ่ายคืนให้แก่อ้อยสด
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2563/64 ในทางเดียวกับที่ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกินร้อยละ 40 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่ละโรงงาน อย่างไรก็ดี ก็ยังเห็นด้วยที่จะผลักดันให้อ้อยไฟไหม้ลดลงตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไม่เกินร้อยละ 20 เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยและเครื่องจักรจัดเก็บผลผลิตมีราคาสูง ซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่มีทางเลือกต้องเผาอ้อย ดังนั้น การทยอยปรับลดสัดส่วนรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว
ทั้งนี้ การกำหนดราคาอ้อยในปัจจุบัน คิดจากมาตรฐานอ้อยคุณภาพดีที่มีค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส เป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น หากชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดที่มีค่าความหวานสูงเกินกว่า 10 ซี.ซี.เอส ก็จะได้ค่าอ้อยเพิ่มตามค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น และเมื่อบวกกับเงินช่วยเหลือค่าอ้อยสดจากเงินส่วนต่าง ก็จะส่งผลให้ราคาอ้อยสดเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางการหักเงินอ้อยไฟไหม้ในปัจจุบันที่ให้หักตันอ้อยละ 30 บาท นำไปเก็บรักษาไว้ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อปิดหีบให้นำเงินมาเฉลี่ยให้ชาวไร่ที่ส่งมอบเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนชาวไร่ที่ส่งมอบผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่นำมาแบ่งให้กับอ้อยสดเพียง 70% และอ้อยไฟไหม้ 30% ทำให้ชาวไร่ยังเผาอ้อยอยู่
“เราควรใช้หลักการชาวไร่อ้อยที่ทำดีควรได้ดีเป็นแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ชาวไร่ที่ตั้งใจดูแลผลผลิตและจัดส่งอ้อยมีคุณภาพเข้าหีบต้องมีรายได้จากการเพาะปลูกมากกว่าเผาอ้อย เมื่อชาวไร่เห็นว่าราคาอ้อยสดมีความคุ้มค่ามากกว่าการส่งมอบอ้อยไฟไหม้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ลดการเผาอ้อยลงได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานโดยยึดหลักการใครทำดีควรได้ดีเช่นเดียวกัน หากกำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กิโลกรัม โรงงานที่หีบสกัดน้ำตาลได้ต่ำกว่าจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และหากโรงงานใดมีประสิทธิภาพหีบสกัดน้ำตาลที่ดีกว่า ก็ควรได้รับประโยชน์จากน้ำตาลที่ทำได้ดีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน เพื่อจูงใจให้โรงงานทุกโรงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการหีบให้ดีที่สุด และสุดท้ายแล้วผลดีจะทำให้ชาวไร่และโรงงาน ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆกัน