“บ้านปู” ส่งเสริมคนรุ่นใหม่พัฒนานวัตกรรม ขับเคลื่อน Digital Transformation
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มุ่งสร้างความเป็นเลิศด้านธุรกิจพลังงานครบวงจรแห่งอนาคต โดยลงนามความร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation: ScII) แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและดิสรัปชันในธุรกิจพลังงาน เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันที่จะตอบรับ New Normal ของโลกพลังงานในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
คุณจรียา เชิดเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-ดิจิทัล บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านปูฯ มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมหลากหลายรูปแบบมาโดยตลอดด้วยความเชื่อว่า “พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” ข้อตกลงความร่วมมือกับ ScII นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบ้านปูฯ
ในการเชื่อมโยงโลกยุค New Normal กับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน โดยเฉพาะดิสรัปชันด้านพลังงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้และทรัพยากรของ ScII และบ้านปูฯ ที่เพียบพร้อมต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จและการเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้เน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นพลังที่แข็งแกร่งในอนาคตของประเทศไทยต่อไป”
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของบ้านปูฯ ที่ต้องการเป็นบริษัทด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และความยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานรูปแบบใหม่ 3Ds นั่นก็คือ การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Decentralization) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลม (Decarbonization) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitalization) ผ่านกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่ช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงและพาเราก้าวสู่ความสำเร็จที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเชิงการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ บ้านปูฯ จะได้รับมุมมองแนวคิดและนวัตกรรม ตลอดจนการคิดค้นโซลูชันด้านพลังงานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ และรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างต่อเนื่อง”
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ทั้งสถาบันฯ และบ้านปูฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมในสถาบันการศึกษา ที่สามารถต่อยอดไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรและสังคมไทยโดยรวม จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อเพื่อสนับสนุนการศึกษาของหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ไปจนถึง การแข่งขันในภาคพลังงาน การดูแลสุขภาวะ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะตรงกับวิสัยทัศน์ของบ้านปูฯ แล้ว ยังสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของสถาบันอีกด้วย”
“ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบ้านปูฯ และ ScII ทั้ง 2 องค์กรจะร่วมแบ่งปันทรัพยากรด้านวิชาการ การฝึกอบรม และการฝึกงานของนิสิต ตลอดจนการประสานงานในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความสนับสนุนจากบ้านปูฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในรูปแบบที่มีความยั่งยืน โดยทางสถาบันฯ จะอุทิศทรัพยากรทั้งทางด้านวิชาการและทรัพยากรบุคลลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมเหล่านี้ เรามุ่งหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศชาติได้ในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา กล่าวเพิ่มเติม
เกี่ยวกับบ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
เกี่ยวกับสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University) เป็นสถาบันแห่งอนาคต (Global Academy for the Future) ที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation: BAScII) เป็นครั้งแรกในเอเชีย ด้วยวัตถุประสงค์หลักในการเตรียมความพร้อมบัณฑิตในการเริ่มต้นทักษะการทํางานในระดับนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 ทั้งความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านการเรียนและการทําโครงงานที่เน้นการปฏิบัติจริง (Project Based-learning) ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีสาขาวิชาให้เลือกเรียนทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสุขภาวะและการอยู่ดีมีสุข (Health and Wellbeing) กลุ่มชุมชนเสมอภาคและเมืองอัจฉริยะ (Inclusive Community and Smart City) กลุ่มการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และกลุ่มปัญญาดิจิทัลเชิงประยุกต์ (Applied Digital Intelligence) และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำแห่งอนาคต สามารถสร้างคุณค่าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ สร้างผู้นำและบัณฑิตรองรับอนาคต (future leaders) ให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมและสังคม (Demand-driven)